ข้อมูลพื้นฐาน


ชื่อ : พ่อครูอุ่นเรือน หงษ์ทอง

ทักษะด้าน : ช่างปี่

สาขา : สาขาศิลปะการแสดง

ประจำปีพุทธศักราช :

หมายเลขโทรศัพท์ :

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ ๗๐ ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๑๗๐

ประวัติ :

นายอุ่นเรือน หงษ์ทอง เกิดเมื่อวัดที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ เกิดที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บิดาชื่อ นายปัน หงษ์ทอง มารดาชื่อ นางผัน ชัยชนะ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๘ คน และ สมรสกับนางบุณมี คนคำ มีบุตร ๒ คน



ประวัติการศึกษา


จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านวังมะริว ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ การเรียนการเป่าปี่ได้เรียนนายปัน หงษ์ทอง ผู้เป็นบิดาต่อมาก็เล่าเรียนกับแม่ครูซอ คำปัน เงาใส จึงได้ปฏิบัติงานมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน และปัจจุบันนี้ได้สอนหรือถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ใหญ่และเด็กและผู้สนใจ 


ประวัติการทำงาน



การเผยแพร่ผลงาน


การเผยแพร่ผลงานของนายอุ่นเรือนส่วนมากจะเป็นงาน    สืบสานประเพณี งานเครือข่ายผู้รู้ งานโรงเรียน งานที่ศูนย์ศึกษาต่างๆ ซึ่งในแต่ละงานจะมีเยาวชนเข้าร่วมเพื่อรับการถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ ของนายอุ่นเรือน ในทุกงานที่นาย     อุ่นเรือนออกไปเผยแพร่ผลงานส่วนมากจะได้รับความนิยมชมชอบจากผู้ที่ได้มาศึกษา ผลงานที่ได้รับการเผยแพร่ชิ้นที่ 1 คือ เทปบันทึกเสียงปี่ 3 เล่ม ซึง 1 เลา จำนวน 2 ม้วน ผลงานชิ้นที่ 2 คือ บันทึกเสียงปี่ลงในแผ่น VCD เรื่องไก่น้อยดาววี ซอตำรายา สูมาครัวตาน และผลงานส่วนที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ ก็ได้ไปบันทึกเพื่อถวายเป็นมูลนิธิส่วนกลางของจังหวัดเชียงใหม่ ชื่อว่าปี่แก้วเสียงทิพย์ ซึ่งเป็นการบันทึกเป็นแผ่น CD 
 


รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ


พ.ศ.2534 ได้รับใบประกาศเกียรติคุณในการแสดงจ๊อยซอและซอพื้นเมืองในงานวันอนุรักษ์มรดกไทย จากคณะกรรมการจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทย
พ.ศ.2540 ได้รับเกียรติบัตรจากโรงเรียนแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ.2542 ได้รับเกียรติบัตรจากสถาบันราชภัฏเชียงใหม่
พ.ศ.2544ได้รับเกียรติบัตรจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ 
พ.ศ.2544 ได้เข้าร่วมงานสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนา
พ.ศ.2545 ได้รับเกียรติบัตรจาก สภาวัฒนธรรมอำเภอ   เชียงดาว
พ.ศ.2545 ได้รับเกียรติบัตรจากโรงเรียนบ้านตลาดขี้เหล็กในฐานะเป็นวิทยากรครูภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบสานตำนานปี่ซอ
พ.ศ.2545ได้รับเกียรติบัตรจาก ชมรมสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้าน
พ.ศ.2546 ได้รับเกียรติบัตรจาก มูลนิธิคนพิการภาคเหนือ ศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 8


ชีวิตปัจจุบัน



บทสัมภาษณ์


แนะนำตัว

พ่อครูอุ่นเรือน หงษ์ทอง บ้านเลขที่ 70 หมู่ 8 ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการเล่นปี่จุมประกอบการขับเพลงซอ เพลงพื้นบ้านภาคเหนือตอนบน เป็นผู้มีองค์ความรู้เรื่องปี่จุมพร้อมกับซึงลูกสี่ไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้สืบต่อไป

ปี่จุม

ปี่จุมคือ เครื่องดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือประเภทเครื่องลมที่มีลิ้น เป็นวงปี่ที่มีหลายเล่มหลายขนาดมารวมกัน เพราะคำว่า “จุม” เป็นภาษาท้องถิ่นเหนือ แปลว่าชุมนุมหรือรวมกัน 

ปี่จุมนั้นมีตั้งแต่ จุม 5 จุม 4 จุม 3 ปี่จุม 5 เป็นวงปี่ที่สมบูรณ์ที่สุดเพราะประกอบไปด้วย ปี่ก้อย คือปี่นำวงปี่ทั้งหมด ปี่กลาง ปี่เล็กหรือปี่ตัด ปี่แม่และปี่ก้อยเล็ก วงปี่จุม 4 คือจะมี ปี่ก้อย ปี่กลาง ปี่แม่ และปี่ตัด ส่วนวงปี่จุม 3 นั้นจะตัดปี่แม่ออกจะเหลือแค่ ปี่ก้อย ปี่กลางและปี่ตัดแต่ที่เพิ่มเติมมาคือมีซึงลูกสี่มาเล่นเป็นตัวยืนจังหวะแทนซึ่งก็จะให้เสียงเบสได้คล้าย   ปี่แม่นั่นเอง ปัจจุบันวงปี่จุมที่เล่นประกอบการขับร้องซอนั้นนิยมเล่นปี่จุม 3 เพราะใช้คนน้อยแต่คุณภาพเหมือนเล่นหลายคนเช่นเดียวกัน
ปี่จุมทำมาจากไม้รวกแดง ซึ่งเป็นไม้ไผ่พันธุ์พื้นเมืองของภาคเหนือไทย ตัวไม้ไผ่รวกแดงที่จะมาทำนั้นจะต้องเป็นไม้หนุ่มที่มีอายุ 1 ปี และเนื้อไม้นั้นจะต้องไม่หนาเกินไป วิธีสังเกตไม้ที่จะมาทำปี่จุมตามภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนบอกว่า จะต้องเป็นไม้ ”รอดกอ” คือจะมีลักษณะและคุณสมบัติตามที่กล่าวมาข้างต้น การทำปี่จุมแต่ละจุมนั้นก็จะใช้แค่ไม้เพียงแค่ 1 ลำ เท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เวลาตัดมาทำปี่จุมนั้นตั้งแต่ต้นจนถึงปลายลำจะได้ปี่จุมอยู่ 5 เล่มพอดี เวลาเทียบเสียงนั้นมันจะลงตัวกันพอดี ขั้นตอนการทำคือไปหาไม้รวกแดงที่มีคุณสมบัติจะทำปี่จุมได้แล้ว ตัดมาแล้วนำมาตากแดดก่อนประมาณ 1-2 เดือน เพื่อกันไม่ให้ไม้ชื้นจากนั้นก็เอามาเผาไฟที่เตาที่ทำมาโดยเฉพาะสำหรับทำ       ปี่จุมเรียกว่า “เตาเส่า” เผาไฟด้วยไฟที่แรงกันแมลงจำพวกมอดกัดกินเนื้อไม้ หลังจากนั้นก็เอามาดัดเพื่อให้ไม้มันตรงทุกเล่ม ดัดเสร็จแล้วก็จะทำการวัดขนาดปี่จุมตามมาตรฐาน ซึ่งปี่ทุกเล่มความยาวจะไม่เท่ากัน อุปกรณ์ก็จะมี มีดเหลา เลื่อยตัด เหล็กขนาด 1 หุนถึง 3 หุน เพื่อที่จะเอามาเจาะทะลุข้อปล้องของปี่จุม เมื่ออุปกรณ์ครบแล้ว เริ่มแรกจะทำปี่ก้อยก่อน เพราะตัวปี่ก้อยนั้นถือว่าเป็นพระเอกของวง ถ้าเปรียบปี่ก้อยกับเครื่องดนตรีไทยแล้วก็จะเหมือนกับระนาดเอกนั่นเอง ทีนี้ขั้นตอนการทำก็จะวัดก่อนว่า ตามมาตรฐานของปี่ก้อยนั้นยาวเท่าไหร่    ปี่ก้อยจะมีข้อปล้องอยู่ข้อหนึ่งก็จะทำการตัด ตัดเสร็จก็จะเหลาผิวไม้ให้เกลี้ยงเกลาโดยเฉพาะตรงก้นปี่ตรงที่จะใส่ลิ้นปี่และอมไว้ในปากจะได้ไม่ระคายในปาก จากนั้นก็จะใช้เหล็กหุนที่กล่าวมานี้ลนไฟให้เหล็กแดง แล้วก็เจาะสวนทะลุข้อเข้าไปจนเกิดเป็นช่องว่างคล้ายขลุ่ย เพื่อที่จะให้เกิดเสียงนั่นเอง เจาะเรียบร้อยแล้วก็จะทำการ เจาะรูที่จะใช้เป็นตัวนับนิ้วเวลาเป่านั่นเอง เมื่อทำปี่ก้อยเสร็จก็จะตามด้วยปี่กลาง ปี่ตัด ปี่แม่และปี่ก้อยเล็กเป็นลำดับสุดท้าย ขั้นตอนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่พ่อครูอุ่นเรือนบอกก็คือ การทำลิ้นปี่จุม เพราะ ”ลิ้น” คือตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ปี่นั้นเสียงเพราะเพียงไร สมัยก่อนพ่อครูบอกว่าการทำลิ้นปี่นั้น จะใช้ ”ทองแข” ผสม ซึ่งทองแขผสมนั้นจะทำมาจากอะไรท่านอธิบายง่ายๆ ว่าคือชนิดเดียวกับที่ใช้ทำ ”ฆ้อง” นั่นเอง เมื่อได้วัสดุแล้วก็จะเอามาตีจนบางถึงบางมาก ปัจจุบันท่านบอกว่าใช้เหรียญ 25 สตางค์หรือเหรียญ 50 สตางค์แทน ก่อนตีท่านบอกว่าต้องยกมือไหว้ก่อนเพราะในเหรียญนั้นมีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเมื่อตีเสร็จจนได้ที่แล้วก็จะเอามาวัดและตัดเพื่อเข้ากับขนาดของปี่จุมแต่ละเลา เช่น ปี่ก้อย ปี่กลาง ปี่แม่ ฯลฯ 
“ทางเสียง” ของปี่แต่ละเลานั้นต่างกันเวลาเล่นนั้นจะสลับกันเช่น ทางปี่ก้อย”เปิด” ทางปี่กลาง”ปิด” ทางของปี่ตัดจะมาเดียวกับ ”ปี่กลาง” และทางของปี่แม่นั้นจะไปทางเดียวกับ   ”ปี่ก้อย” เป็นต้น

การอนุรักษ์

แม้ปัจจุบันวงปี่จุมจะนิยมเล่นแค่ ”จุม 3” แต่พ่อครูอุ่นเรือนก็อนุรักษ์ไว้ครบทุกจุม เพราะเห็นว่าแต่ละจุมนั้นมีเอกลักษณ์และความไพเราะในตัวเอง เพลงที่เล่นก็จะมี ตั้งเจียงใหม่ จะปุละม้าย ก๋ายเจียงแสน อื่อ เงี้ยว พม่า พระลอ ล่องน่าน(ก๋าย) เงี้ยวสิบจ๊าด เพลงอื่นๆ ก็จะมี สับปะลี่ สาวไหม ฯลฯ
เมื่อมีเยาวชนหรือคนที่สนใจมาร่ำเรียน พ่ออุ่นเรือนก็จะสอนให้แบบเรียนตัวต่อตัว ซึ่งที่บ้านท่านจะมีอุปกรณ์พร้อมที่จะสอนได้ทุกเวลา ปี่จุมก็มีจำนวนมากเพียงพอที่จะสอนได้หลายคน ซึงก็มีเยอะพอเช่นกัน คนที่มาเรียนใหม่นั้นพ่อครูจะสอนโดยการฝึกนับนิ้วหรือรูก่อนให้คล่อง จากนั้นก็มาฝึก ”อวายลม” คือ เวลาที่เป่าปี่จุมนั้นจะต้องกักลมไว้บริเวณในแก้มให้แก้มป่อง หายใจเข้าและออกโดยไม่เสียทำนอง ซึ่งตรงนี้เองก็อาจจะยากสำหรับผู้ที่มาฝึกใหม่ๆ ถ้าใจไม่สู้อาจจะท้อได้ หลังจากฝึกจนคล่องแล้ว พ่อครูก็จะสอนเพลงให้ก่อนเป็นเพลงพื้นฐานสำหรับคนเรียนเป่าปี่คือเพลงพม่า เพลงอื่อ ถ้าคล่องแล้วก็จะสอนเพลงตั้งเจียงใหม่เป็นลำดับถัดไป ส่วนซึงลูกสี่ก็จะสอนตั้งแต่จับซึงอย่างไร เล่นเพลงก็เหมือนกับฝึกปี่จุมทุกประการ ถ้ามาเรียนกับท่านจะสอนให้จนเก่งแล้วนำไปประกอบอาชีพได้เลย ดังนั้นลูกศิษย์   ลูกหาจึงมีเยอะแยะกว้างขวาง ทั้งในมหาวิทยาลัยเองหรือที่อื่นด้วยถ้าเด็กๆ หรือใครที่สนใจมาเรียนท่านจะสอนให้ไม่คิดค่าสอน    สักบาท เพื่อจะได้อนุรักษ์สืบสานให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้สืบทอด
 


สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รหัสไปรณีย์ 50300
โทรศัพท์ 0-5388-5903 โทรสาร 0-5388-5900
เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 08.30 – 15.30 น.


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2559, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่