ข้อมูลพื้นฐาน


ชื่อ : พ่อครูภัทรพงศ์ ไชยสุภา

ทักษะด้าน : ด้านดนตรีพื้นบ้านล้านนา

สาขา : สาขาศิลปะการแสดง

ประจำปีพุทธศักราช : 2551

หมายเลขโทรศัพท์ :

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 411/153 หมู่บ้านนันทราธานี หมู่ 5 ต. หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ 50290

ประวัติ :

ครูชำนาญการพิเศษ อันดับ ค.ศ. 3 โรงเรียน นวมินทราชูทิศ พายัพ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 34นายภัทรพงศ์ ไชยสุภา สมรสกับ นางจันทร์จิรา (สาสุจิตร) ไชยสุภา มีบุตร 2 คน



ประวัติการศึกษา


พ.ศ.2512 จบชั้นประถมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ.2516 จบชันประถมศึกษาตอนปลาย (ป.7) สนามสอบจังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ.2520 จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  โรงเรียนธรรมราชศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่   
พ.ศ.2520 นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ.2521 อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร โดยมีพระราชสิทธาจารย์ เป็นพระ อุปัชฌาย์
พ.ศ.2522 จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนธรรมราชศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ.2524 ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) วิชาเอกคณิตศาสตร์  วิทยาลัยครูเชียงใหม่
พ.ศ.2529 ศึกษาบัณฑิต วิชาเอกคณิตศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ประวัติการทำงาน


พ.ศ.2524 ครู 2 ระดับ 2 โรงเรียนแม่หอพระวิทยาคม อำเภอ   แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 
พ.ศ.2530 อาจารย์ 1 ระดับ 3 โรงเรียนแม่หอพระวิทยาคม อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 
พ.ศ.2537 อาจารย์ 2 ระดับ 5 โรงเรียนแม่หอพระวิทยาคม อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ.2543 อาจารย์ 2 ระดับ 7 โรงเรียนแม่หอพระวิทยาคม อำเภอแม่แตง  จังหวัดเชียงใหม่                                    
พ.ศ.2550 ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนแม่หอพระวิทยาคม อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 
พ.ศ.2553-ปัจจุบัน ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ จังหวัดเชียงใหม่ 


การเผยแพร่ผลงาน



รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ


พ.ศ. 2536  

  • เกียรติบัตร “ผู้มีมาตรฐานวิชาชีพครูดีเด่น” จากสำนักงานคุรุสภาอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 

พ.ศ. 2539  

  • เกียรติบัตร “ครูผู้จัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม ระดับดีเด่น” จากกรมสามัญ ศึกษาจังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ. 2542

  • เกียรติบัตร “ครูผู้มีผลงานทางด้านวัฒนธรรมดีเด่น” จากสำนักงานคุรุสภา อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 

พ.ศ.2553

  • ประกาศเกียรติคุณ “รางวัลชมเชย ครุสดุดี ระดับจังหวัด” จากสำนักงานคุรุสภา จังหวัดเชียงใหม่ 
  • เกียรติบัตร “ครูดีเด่น” จากสำนักงานคุรุสภา อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
  • เกียรติบัตร “ครูที่ปรึกษาดีเด่น” จากโรงเรียนแม่หอพระวิทยาคม อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 
  • โล่รางวัล “ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาดนตรีและนันทนาการ จังหวัดเชียงใหม่” จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ 

พ.ศ.2544

  • เกียรติบัตร “ข้าราชการดีเด่น” จากโรงเรียนแม่หอพระวิทยาคม อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.2551

  • โล่รางวัล “เพชรราชภัฏ-เพชรล้านนา สาขาศิลปะการแสดง  ด้านดนตรีพื้นเมือง, ปี่จุม”

พ.ศ 2553

  • รางวัลเทพกินรี ยกย่องเชิดชูเกียรติผู้อนุรักษ์มรดกไทย จัดโดยหนังสือพิมพ์ข่าวผู้นำ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏ     สวนสุนันทา

ชีวิตปัจจุบัน



บทสัมภาษณ์


แนะนำตัว

พ่อครูภัทรพงศ์ ไชยสุภา เกิดวันที่ 2 ธันวาคม 2500 บรรจุรับราชการครั้งแรกปี พ.ศ.2524 ที่โรงเรียนแม่หอพระวิทยาคม สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนนวมินทราชูทิศพายัพ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 ก่อนที่จะมาบรรจุเป็นครูได้เรียนที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ.2524 วิชาเอกคณิตศาสตร์ และได้บรรจุที่โรงเรียนแม่หอพระ จากนั้นเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ความรู้ศิลปะการเล่นดนตรีจากชุมนุมพื้นบ้านล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นเดียวกับอาจารย์สนั่น ธรรมธิ

ความสนใจในดนตรีพื้นเมือง

มีความสนใจดนตรีพื้นเมืองตั้งแต่เด็กประถมและเห็นคนเฒ่าคนแก่เล่นดนตรีที่ไหน ชอบไปนั่งอยู่แถวหน้าดูการแสดง ในสมัยนั้นไม่มีเครื่องดนตรี ได้ฟังและมีความสนใจ เมื่อได้มีโอกาสมาเป็นครู เริ่มแรกมีความสนใจอยู่ตลอด แต่ไม่รู้ว่าจะหาเครื่องดนตรีจากที่ใด เมื่อได้ไปที่เชียงใหม่การดนตรี ก็ได้ทำความรู้จักกับเจ้าลุงสุนทร   ณ เชียงใหม่ ตอนนั้นยังมีชีวิตอยู่ ที่บ้านพระนายช้างเผือก ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นเจ้าลุงสุนทร ท่านได้เชิญชวนว่าถ้าชอบดนตรีให้มาเล่นกับลุงก็ได้ที่บ้านพระนายช้างเผือก จากนั้นก็เริ่มเล่นเล็กๆ น้อยๆ เช่น เพลงปู่เป้ง มาเล่นจริงๆ จังๆ ตอนมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เป็นสมาชิกชุมนุมพื้นบ้านล้านนาชุดเริ่มก่อตั้งปี พ.ศ.2527 ซึ่งมีครูวิเทศ กันทิมา (ถึงแก่กรรมแล้ว) เป็นครูสอนดนตรีชุมนุมพื้นบ้านล้านนา จากนั้นก็แสวงหาความรู้ด้านดนตรีพื้นเมืองเรื่อยมา ตั้งแต่ ดีดซึง สีสะล้อ เป่าปี่ โดยเฉพาะปี่จุม    ได้ติดตามช่างซอไปได้เรื่อยๆ ตอนนั้นเป็นครูตั้งแต่ปี พ.ศ.2527-2529 เริ่มเป็นช่างปี่และได้ติดตามช่างซอไปตลอด นี่คือความเป็นมาของการเล่นดนตรี การแสวงหาความรู้ส่วนใหญ่จะแสวงหาความรู้จากครูภูมิปัญญา โดยเฉพาะปี่จุม ครูที่สอนวิชาปี่จุมคือ พ่อครูประสิทธิ์ วงษ์ยา ตอนนั้นเป็นช่างปี่ให้แม่ครูแสงเอ้ย สุริยมนต์ คณะดาวรุ่ง ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับท่าน และท่านได้สอนโดยอัดเสียงลงเทปคลาสเซท และนำมาแกะตัวโน้ตที่ละท่อนทุกเพลง หลังจากนั้นก็ทดลองเป่าให้ช่างซอฟัง เมื่อช่างซอสนใจหรือถูกใจ   ก็นำมาพัฒนาตนเอง จากนั้นเริ่มศึกษาจากครูภูมิปัญญาท่านอื่นบ้าง เช่น พ่อครูทวนทอง อัศวริน เป็นช่างปี่ของคณะเก๋าต่วม ได้นำโน้ตเพลงมาฝึกซ้อมจนชำนาญ จากนั้นก็ทดลองเป่าให้ช่างซอฟัง    นี่คือความเป็นมาของการเล่นเครื่องดนตรี สะล้อ ซอ ซึงและปี่จุม   
       พ่อครูได้เป็นช่างปี่ให้ทุกคณะ ในปี พ.ศ.2538 พ่อครูบุญศรี  รัตนัง ได้ขอให้ครูเป็นเลขา หรือช่างปี่ เช่น คณะบุญศรีรัตนัง คณะดาวรุ่ง คณะลูกแม่ปิง คณะดาวล้านนา คณะแม่ระมิงค์ คณะแม่ครูจันทร์ตา คณะเสียงซอสันป่าตอง ช่างซอจะรู้จักครูภัทรพงศ์ หรือครูศรีเทียนในเรื่องของช่างปี่ครับ
        เพลงแรกที่เล่นเครื่องดนตรี ประเภทซึง ได้แก่ เพลงปู่เป้ง ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านเก่าแก่ของล้านนา ไปที่ไหนคนเฒ่าคนแก่ก็จะเล่นกัน จากนั้นก็จะเล่นเพลงประสาทไหว อันนี้ใช้สำหรับเครื่องดนตรีซึงและสะล้อ ส่วนปี่จุมเริ่มต้นด้วยการเป่าปี่เพลงพื้นบ้านก่อน จากนั้นก็จะเป็นเพลงตั้งเชียงใหม่ เพลงจะปุ และละม้าย โดยเอามาฝึกตอนเย็นในบ้านพักครู เริ่มจากแกะโน้ตเพลง เปิดทีละท่อน ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน เมื่อชำนาญแล้วก็ไปเป่าให้พ่อครูฟัง เสียงถูกต้องแล้วแต่ไม่มีลม จึงต้องพัฒนาตนเองเพิ่ม
ติดตามช่างซอได้ประมาณ 2 ปี เป็นที่ชื่นชอบและรู้จักของ  ช่างซอทั้งหลายในนามช่างปีสมัครเล่น คณะช่างซอไหนขาดช่างปี่ ช่างซอเหล่านั้นก็จะชวนไปร่วมงานด้วย จากนั้นมีการพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ ก็ได้เป็นช่างปี่ให้แม่ครูบัวซอน ถนอมบุญ พ่อครูศรียนต์  และได้พัฒนาตนเองมาตลอดในการเป็นช่างปี่ จนมาถึง ปี 2530 ได้เป็นช่างปี่อย่างสมบูรณ์โดยการเป็นช่างปี่ให้กับแม่ครูแสงเอ้ย      สุริยมนต์ ที่บ้านดงหลวง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นการ  แจ้งเกิดในวงการช่างปี่  

เครื่องดนตรีพื้นเมืองที่เชี่ยวชาญ
ครื่องดนตรีที่พ่อครูเล่นได้ ได้แก่ ซึง สะล้อ ปี่ ขลุ่ยและกลองสะบัดชัย   
     กลองสะบัดชัย ในสมัยที่อยู่โรงเรียนมีหอพระมีการประกวดกลองสะบัดชัย ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ได้ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท เป็นความภาคภูมิใจตลอดมา จากนั้นก็จะนำนักเรียนไปแข่งดนตรีพื้นบ้าน ทุกสถานที่ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือเอกชน จะได้รับรางวัล 1 ใน 3 ส่วนใหญ่จะได้ ที่ 1 หรือ  ที่ 2 เช่น กลองสะบัดชัยจะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการแข่งขันดนตรีพื้นบ้านจะได้รับรางวัลถ้วยจารึกพระปรมาภิไธย สก ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นมีรางวัลที่ได้รับอื่นๆ อีกมากมาย 

พ่อครูมีความถนัดเครื่องดนตรีทุกประเภท ประเภทแรกได้แก่ 

  1. ซึง ซึงจะมีหลายขนาด เป็นซึงกลาง (ซึงลูก 3) และซึงขนาดใหญ่ เพลงแรกที่ฝึกเล่น ชื่อเพลงปู่เป้ง
  2. เครื่องดนตรีประเภทตี คือกลองพื้นเมือง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากลองโป่งโป้ง จะใช้เล่นประกอบวงดนตรีพื้นเมือง
  3. สะล้อ โดยพ่อครุบุญรัตน์ ทิพย์รัตน์ บ้านเสียงไทย  ได้รังสรรค์สะล้อให้ ทำถมทอง โดยเจ้าสุรศักดิ์ ณ เชียงใหม่ เชียงใหม่การดนตรี ทำลวดลายให้เก็บสะสมมาหลายปีแล้ว สะล้อมี 2 ประเภท ลูก 3 และลูก 4 เพลงที่ใช้เล่นเพลงล่องแม่ปิง เป็นที่รู้จักกันทั่วไป
  4. ขลุ่ยพื้นเมือง ขลุ่ยพื้นเมืองจะแตกต่างจากขลุ่ยอื่นคือจะใช้เล่นเพลงพื้นบ้าน ส่วนขลุ่ยอื่นจะเล่นเพลงพื้นบ้านก็ได้เหมือนกันจะแตกต่างกันตรงสำเนียง
  5. ปี่จุม เป็นปี่ที่ใช้บรรเลงตอนขับซอ สมัยเริ่มแรกจะใช้ปี่อยู่ 3 เล่ม ประกอบด้วย ปี่ก้อย  ปี่กลางและปี่แม่ซึ่งมีขนาดใหญ่และยาว จากนั้นประมาณ 50-60 มานี้ ได้มี พ่อติ๊บ ช่างหล่อได้คิดประดิษฐ์ปี่ตัดเข้ามาอีก 1 ชิ้น รวมแล้วปัจจุบันจะมีปี่จุ่มอยู่ 3 ชิ้น ประกอบด้วย ปี่ก้อย ปี่กลางและปี่ตัด ในปี่จุ่มเป็นปี่ที่จะโดดเด่นหรือเป็นตัวหลักได้แก่ ปี่ก้อย ช่างซอจะเป็นคนหาช่างปี่ก้อยด้วยตนเอง เพราะปี่ก้อยจะเป็นตัวกำหนดจังหวะ น้ำหนัก เสียงและอารมณ์ ถ้าได้ช่าง   ปี่ก้อยที่มีประสบการณ์และเป่าปี่ก้อยดี ช่างซอก็จะซอมีความสนุกสนานในการซอ พ่อครูภัทรพงศ์ฝึกปี่จุมมาจากพ่อครูประสิทธิ์ วงศ์ฉายา เพลงที่ใช่เป่าประกอบซอ ได้แก่ เพลงตั้งเชียงใหม่ เพลงจะปุ ละม้าย เสเลเมาหรือ    เพลงเงี้ยว เพลงพม่าและเพลงอื่อ

หลักเกณฑ์การเล่นดนตรีพื้นเมือง

การเล่นดนตรีพื้นเมืองครั้งแรกในกรณีที่คนที่สนใจยังไม่มีความรู้เรื่องเครื่องดนตรี จะต้องทำความรู้จักเครื่องดนตรีก่อน เช่น ซึง จะประกอบไปด้วย โพรงเสียง ตาดซึง หมอน ลูกซึง ลูกบิด เดิมใช้ลูกบิดเป็นไม้ ปัจจุบันใช้เหล็กแทนเพราะมีประสิทธิภาพมากกว่า ขั้นแรกมารู้จักวิธีนั่งเล่นซึงก่อน สมมุติว่าคนเล่นสามารถเอาซึงวางไว้บนเขาได้ให้นั่งขัดสมาธิ นั่งท่าตัวตรง สอนวิธีการไล่เสียงตัวโน้ตก่อน เช่นซึงลูก 3 กำหนดให้สายบนเป็นเสียงโด ให้ผู้เล่นจับซึงและดีดให้เป็นเสียงก่อน (ดีดเสียง โด-ซอล) เมื่อเสียงได้มาตรฐานแล้ว ก็ให้เริ่มดีดโดยวางนิ้วที่สาย (ดีดเสียง โด-เร-มี- ฟา- ซอล-ลา-ที-โด) เมื่อรู้พื้นฐานของเสียงแล้ว ให้เริ่มเล่นเพลงจากโน้ตพื้นฐาน เริ่มเพลงล่องแม่ปิงหรือปู่เป้งก็ได้ โน้ตเพลงพื้นเมืองส่วนใหญ่จะจูงใจผู้เล่นเพราะ   ไม่ยาว ให้ผู้เล่นเริ่มหัดเล่นเป็นท่อนๆ 
เมื่อเล่นเพลงแรกได้แล้วก็จะเป็นกำลังใจให้กับผู้เรียน ถ้าเป็นซึงขนาดใหญ่ ผู้เล่นจะต้องวางซึงออกมาให้เฉียง 45 องศา เพราะว่าไม่สามารถวางบนตักได้ จะต้องมีการไล่นิ้วจนคล่อง จากนั้นจะทำให้เกิดทักษะตามมา 
เครื่องดนตรีประเภทสะล้อ ถ้าผู้เล่นเป็นหญิงก็ให้นั่งพับเพียบ ผู้ชายให้นั่งขัดสมาธิ เริ่มแรกผู้เล่นต้องรู้จักส่วนประกอบของสะล้อ ประกอบด้วย ตีนสะล้อ หน้าตาด หมอน กระโหล้ง รัดอก และลูกบิด การจับสะล้อจับด้วยมือซ้ายและคัดชัดด้วยมือขวา ผู้เล่นต้องทำให้เกิดเสียง (สีเสียงโด-ซอล) จนเป็นเสียงที่นิ่ม จากนั้นก็ให้ผู้เล่นเริ่มวางนิ้วลงที่สาย (สีเสียง โด-เร-มี-ฟา-ซอล-ลา-ที-โด) สีจนได้เสียงนิ่มและเพราะแล้ว ก็ให้เล่นตามโน้ตเพลง
ฝึกจนสำเร็จแล้ว ผู้เล่นก็จะภูมิใจและมีกำลังใจค่อยเริ่มเล่นเพลงใหม่และนี่เป็นวิธีการสอนผู้เล่นที่สนใจต้องการเล่นใหม่ๆ

โอกาสในการเล่นดนตรีพื้นเมือง

การเล่นดนตรีพื้นเมืองสามารถเล่นได้ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล เช่น งานปีใหม่ งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพ ดนตรีพื้นเมืองจะเป็นดนตรีที่เป็นสากลเล่นได้ทุกงาน 

คุณสมบัติของผู้สนใจเรียน

คุณสมบัติของคนที่จะเรียนดนตรีพื้นเมืองต้องมีความสนใจ ฝักใฝ่ในการเล่นดนตรี ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อน ให้มาทดลองเล่นเครื่องดนตรี แล้วค่อยพัฒนาตามความชอบของตนเอง ผู้เล่นสามารถเล่นเครื่องดนตรีทุกประเภท

การอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมือง

วิธีการอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองในมุมมองของพ่อครูภัทรพงศ์ การอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองเป็นสิ่งที่ควรตระหนัก ถ้าหากว่าหน่วยงานไหนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ภายในหมู่บ้านถ้าผู้ใหญ่บ้าน พระสงฆ์   ให้ความสนใจก่อตั้งดนตรีพื้นเมืองเกิดขึ้นได้ก็มีความเป็นไปได้   ถ้าผู้ใหญ่ให้ความสนใจ เด็กก็ให้ความสนใจตามเพราะว่าการก่อตั้ง  จะต้องใช้เงินสนับสนุนและเครื่องดนตรีจะต้องเป็นของดีมีคุณภาพ ในมุมมองของพ่อครู ในหมู่บ้านไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน พระสงฆ์ หรือเยาวชนให้ความสนใจ ส่วนของตำบล เทศบาล กำนันให้ความสนใจมาถึงระดับอำเภอ นายอำเภอ สภาวัฒนธรรมอำเภอให้ความ
สนใจเข้าไปควบคุมดูแล ให้การส่งเสริม ไปประสานกับตำบล ประสานกับหมู่บ้าน เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล งานเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นในทุกหมู่บ้าน ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียน เช่น สอนในโรงเรียนก่อน เมื่อในหมู่บ้านมีงานก็สามารถขอความช่วยเหลือจากทางโรงเรียนมาแสดงทั้งดนตรีพื้นเมืองและกลองสะบัดชัย สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านของเราที่หน่วยงานภาครัฐควรให้การสนับสนุนในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด สภาวัฒนธรรมจังหวัด โดยการจัดประกวดแข่งขัน มีการกำหนดรางวัลการประกวดและมีถ้วยรางวัลเพื่อเป็นเกียรติยศ เพื่อเป็นชื่อเสียงของหน่วยงานแบะตัวผู้แสดงเอง กรณีที่เยาวชนได้ไปศึกษาต่อก็สามารถรวบรวมผลงานเหล่านั้นไว้ได้
       มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของดนตรีพื้นเมือง ซอและเป็นหน่วยงานหลักที่ช่วยสนับสนุนและมอบรางวัลเพชรภัฏ-เพชรล้านนาที่เป็นรางวัลที่เชิดชูเกียรติให้   ช่างซอได้ขวนขวาย นอกจากจะเป็นอาชีพรองหรืออาชีพเสริมแล้ว ยังใช้เวลาส่วนหนึ่งไปสอนในโรงเรียนและนอกโรงเรียน จึงทำให้เกิดศิลปินขึ้นและมีผลงาน ส่วนนี้เป็นมุมมองของพ่อครูภัทรพงศ์  
 


สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รหัสไปรณีย์ 50300
โทรศัพท์ 0-5388-5903 โทรสาร 0-5388-5900
เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 08.30 – 15.30 น.


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2559, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่