ข้อมูลพื้นฐาน


ชื่อ : พ่อครูประดิษฐ์ เป็งเรือน

ทักษะด้าน : ด้านดนตรีพื้นบ้านล้านนา

สาขา : สาขาศิลปะการแสดง

ประจำปีพุทธศักราช : 2560

หมายเลขโทรศัพท์ :

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 48 หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ 50130

ประวัติ :

นายประดิษฐ์ เป็งเรือน เกิดวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2492 เกิดที่อำเภอสันกาแพง จังหวัดเชียงใหม่ บิดาชื่อ นายบุญตัน เป็งเรือน มารดาชื่อ นางปั๋น เป็งเรือน เป็นบุตรคนที่ 1 สมรสกับ นางแสงวาสย์ เป็งเรือน มีบุตร 1 คนและธิดา 1 คน



ประวัติการศึกษา


ระดับประถมศึกษาปีที่ 4  โรงเรียนวัดหนองแสะ จังหวัดเชียงใหม่
ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6  การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ระดับนักธรรมตรี  วัดสันข้าวแคบกลาง จังหวัดเชียงใหม่


ประวัติการทำงาน


นายประดิษฐ์ เป็งเรือน ได้เรียนรู้ดนตรีพื้นเมืองและการแต่งค่าวฮํ่าจากพ่อซึ่งตาบอดทั้งสองข้าง แต่ท่านมีความสามารถเก่งทางด้านดนตรีพื้นเมืองและเป็นกวีล้านนาในการแต่งค่าวฮํ่า โดยเริ่มเรียนรู้เมื่อปี พ.ศ. 2508 ซึ่งพ่อของนายประดิษฐ์จะเป็นคนบรรเลงดนตรีพื้นเมือง คือ ซึง โดยไม่มีตัวโน้ตใช้วิธีไล่เสียงหลังจากรับประทานอาหารเย็นท่านก็จะเล่นดนตรีพื้นเมืองทุกวัน หลังจากเล่นดนตรีพื้นเมืองก็จะเล่าค่าวโดยด้นสด เรื่องจุ่มป๋าสี่ต้น ให้ฟังทุกวัน หากสถานีวิทยุมีการประกวดค่าวฮํ่า ก็จะเข้าร่วมประกวดด้วย แต่เนื่องจากตาบอด ทำให้เขียนหนังสือไม่ได้เพราะตามองไม่เห็น ก็จะเป็นคนบอกให้นายประดิษฐ์เขียนตามคำบอก จึงทำให้นายประดิษฐ์ซึมซับ จากนั้นนายประดิษฐ์จึงเริ่มฝึกเขียนค่าวด้วยตนเอง และอ่านให้พ่อฟัง ซึ่งพ่อจะบอกว่าควรแก้ไขตรงไหนและไม่ถูกต้องเพราะอะไร จนทำให้นายประดิษฐ์สามารถแต่งค่าวด้วยตนเอง ส่วนดนตรีพื้นเมืองก็เรียนรู้จากพ่อและทุกคืนพ่อกับลูกก็จะมีกิจกรรมร่วมกัน โดยพ่อดีดซึง ลูกสีสะล้อ เป็นกิจวัตรประจำวัน และบางวันเพื่อนของพ่อก็ได้มาร่วมกันบรรเลงดนตรีพื้นเมืองที่บ้านเป็นประจำ
 


การเผยแพร่ผลงาน


ถ่ายทอดให้กับ

จำนวน

ผลการถ่ายทอด

เยาวชนสถานพินิจ

เด็ก-เยาวชน

แม่ริมเชียงใหม่

โครงการฝึกอาชีพระยะสั้น

20 คน

 

เด็กและเยาวชนจากสถานพินิจสามารถเล่นดนตรีพื้นเมืองได้และสามารถเล่นประสมวงเป็นวงดนตรีพื้นเมืองได้ ทำให้เกิดความมั่นใจและภาคภูมิใจและได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และใช้ดนตรีช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยนขึ้น

นักเรียนโรงเรียนวัดล้านตอง

การสอนเป่าขลุ่ย ดนตรี

พื้นเมือง การแต่งค่าวฮํ่า

การจ๊อย ซอพื้นบ้าน

ชั้นประถมศึกษา

ปีที่ 1 – 6

และมัธยมศึกษา

ปีที่ 1 – 3

จำนวน 145 คน

  • นักเรียนชั้น ป.1-3 สามารถเป่าขลุ่ยได้ตามศักยภาพของ แต่ละบุคคล
  • นักเรียนชั้น ป.4- 6 สามารถขึ้นเสียง เครื่องดนตรีเพื่อเทียบเสียงให้เข้ากัน บรรเลงประสมเป็นวงดนตรีพื้นเมืองของโรงเรียนได้ สามารถออกแสดงในงานกิจกรรมของโรงเรียนได้อย่างมั่นใจและมีความไพเราะ
  • นักเรียนชั้น ป.4-6 สามารถอ่านค่าว จ๊อย ซอประกอบดนตรีพื้นเมือง เป็นทำนองล้านนาได้อย่างถูกต้องและมีความไพเราะ
  • นักเรียนชั้น ม.1-3 สามารถแต่งค่าวก้อม เล่าค่าว จ๊อยซอ ได้ตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้

โรงเรียนโป่งนํ้าร้อนวิทยา

ชั้นประถมศึกษา

ปีที่ 1 – 6

จำนวน 30 คน

  • นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 สามารถเป่าขลุ่ยเพลงลอยกระทง ล่องแม่ปิง เพลงพม่า เพลงอื่อ
  • นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 สามารถเล่นดนตรีพื้นเมืองและประสมวงเป็นวงดนตรีพื้นเมืองร่วมกับเพื่อนๆ ได้

นักศึกษา กศน.

ตำบลห้วยทราย

อำเภอสันกำแพง

20 คน

 

  • นักเรียน กศน. ได้เรียนรู้เรียนค่าวจ๊อย ซอ ได้ฝึกปฏิบัติอย่างถูกต้อง

โรงเรียนศูนย์เด็กเล็ก

วัดหนองแสะ

ชั้นอนุบาล

2 – 3

จำนวน 25 คน

  • นักเรียน คุณครู สามารถอ่านค่าวพยัญชนะได้อย่างถูกต้องเรียนรู้อย่างมีความสุข

โรงเรียนแม่สะเรียง

“บริพิตรศึกษา”

 

ชั้นมัธยมศึกษา

คณะครู ประชาชน

จำนวน 45 คน

  • นักเรียน คุณครู ประชาชน สามารถแต่งค่าวก้อมได้จ๊อยเป็นทำนองโก่งเฮวบง และวิงวอนได้อย่างไพเราะ นักเรียน คณะครู ประชาชน เรียนรู้อย่างมีความสุข

นางวัลลีย์ ถาแปง

นางนิลุบล โพธิ์นาคม

ครูโรงเรียนจักรคำคณาทร ลำพูน

ครูโรงเรียนวัด
ล้านตอง

นำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนและไปใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ

 

 


รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ


พ.ศ. 2538   

  • รางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 การประกวดค่าว ประเภทนักเขียนใหม่ จากสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่
  • รางวัลที่ 2 การประกวดจ๊อย (วันเกษตรกร) จากกรมส่งเสริมการเกษตรจังหวัดลำพูน

พ.ศ. 2540   

  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 การประกวดค่าวเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2540 จากสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ. 2543     

  • รางวัลชนะเลิศที่ 1 การประกวดคำขวัญ คำคม คำคล้อง ในวันผู้สูงอายุแห่งชาติจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2543 จากกระทรวงสาธารณสุข
  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 การประกวดบทร้อยกรองเทิดพระเกียรติเนื่องในวันมหิดล ปี 2543 ในหัวข้อ “ร้อยปีสมเด็จย่า” ประเภทค่าวฮํ่า ระดับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2544   

  • รางวัลชนะเลิศการประกวดเพลง เพื่อส่งเสริมการเกษตรกรรมยั่งยืนจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่
  • รางวัลชนะเลิศ การประกวดกวีค่าว จ๊อย ในงาน    “สืบสานตำนานปิงห่าง” จากเทศบาลตำบลอุโมงค์และสภาวัฒนธรรมตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน

พ.ศ. 2546         

  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 การประกวดบทร้อยกรองเทิดพระเกียรติ เนื่องในวันมหิดล ปี 2546 หัวข้อ “โอ้อาลัยในพระมหิดล” ประเภทค่าวฮํ่า    ระดับนักศึกษาและประชาชน จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2548     

  • รางวัลที่ 2 การประกวดทำนองอ่านวรรณกรรมท้องถิ่นภาคเหนือประเภทเล่าค่าวในโครงการสืบสานทำนองอ่านวรรณกรรมท้องถิ่น จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
  • รางวัลที่ 3 การประกวดทำนองอ่านวรรณกรรมท้องถิ่นภาคเหนือประเภทจ๊อย ค่าว ในโครงการสืบสานทำนองอ่านวรรณกรรมท้องถิ่น จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่

พ.ศ. 2549   

  • รางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 การประกวดจ๊อย ประเภทประชาชนทั่วไป จากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลาง จังหวัดลำพูน
  • รางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 3 การประกวดกล่อมลูก ประเภทประชาชนทั่วไป จากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลาง จังหวัดลำพูน

พ.ศ. 2550

  • รางวัลชนะเลิศ การแข่งขันค่าวฮ่ำเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหัวข้อ “ความประทับใจสูงสุดในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงที่มีต่อปวงเราชาวเชียงใหม่ จากมูลนิธิครูบาศรีวิชัย จังหวัดเชียงใหม่
     

ชีวิตปัจจุบัน



ทุกวันนี้พ่อครูประดิษฐ์ เป็งเรือน ได้ปฏิญาณกับตนเองว่าชีวิตนี้จะอุทิศให้กับงานศิลปวัฒนธรรมล้านนา จะสืบสานสร้างสรรค์ผลงานและถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมล้านนา ด้าน ค่าว จ๊อย ซอ ดนตรีพื้นเมือง อักษรล้านนาให้กับลูกศิษย์และจะสร้างสรรค์ผลงานออกมาตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่และยังคงแต่งบทเพลงจ๊อย ค่าวให้กับนักเรียนโรงเรียนวัดล้านตอง  โรงเรียนวัดสันโค้งและผู้ที่มาขอให้แต่งเพื่อนำไปใช้ในงานต่างๆ เป็นประจำ


บทสัมภาษณ์


แนะนำตัว
พ่อครูประดิษฐ์ เป็งเรือน หรือชาวบ้านเรียกว่า “น้อยเสริฐ” อยู่บ้านเลขที่ 4 หมู่ 2 หนองแสะ ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นลูกของพ่อตัน แม่ปั๋น เป็งเรือน พ่อเป็นคนพิการตาบอดตอนอายุ 12 ปี ผมเป็นลูกคนเดียว ตอนเด็กๆ ผมกับพ่อจะไปนอนวัด พ่อชอบเล่นดนตรี โดยเฉพาะซึง ตอนนั้นพ่อเป็นคนสอน ตอนแรกก็สอนฉิ่ง พออายุประมาณ 5-6 ปี ก็เริ่มหัดดีดซึง เมื่อก่อนเป็นการสอนแบบตามใจ ไม่ได้สอนตามตัวโน๊ตเหมือนปัจจุบัน ตอนที่ไปนอนวัด ก็เลยไปเป็นเด็กวัด เริ่มเรียน กอไก่ ขอไข่ ในวัด พออายุ 11-12 ปี ก็มาบวชเป็นเณร ได้แค่ 2-3 พรรษา ก็สึกออกมา ไม่ได้เรียนหนังสือ เรียนจบ ป.4 อยากเรียนแต่  ไม่มีโอกาสได้เรียน ต้องมาช่วยพ่อแม่ทำนา อายุ 15-16 ปี   ไถนา ไม่มีใครสอน เขาไถนากันวันหนึ่งได้เยอะ ผมก็ได้น้อย กว่าจะไถนาเป็น ก็เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่มา พอเป็นวัยุร่นมีโอกาส ดีดซึง สมัยนั้นไม่มีโทรทัศน์ มีแค่วิทยุ พ่ออำนวย กลำพัด   เขาจัดรายการวิทยุ พ่อของผมตาบอดเค้าชอบฟังวิทยุ ท่านชอบแต่งค่าวผมก็เป็นคนเขียนให้ท่าน ท่านจะขอให้ผมเขียน ตอนเสร็จจากการทำไร่ทำสวน เมื่อแรกเริ่มเหนื่อยไม่อยากเขียน ไม่มีใจอยากหัด แต่เพื่อเอาใจพ่อ อยากให้ท่านมีความสุข จึงเขียนส่งไปที่พ่ออำนวย ส่งไปที่พ่ออำนวยเยอะมาก จนแต่งค่าวเป็นโดยปริยาย และพ่อท่านก็จ๊อยเป็น ก็ได้หัดจ๊อยกับท่านและ
ได้จ๊อยให้ท่านฟังเพื่อการเรียน เป็นการเรียนแบบซึมซับจากคุณพ่อมาทั้งดนตรีและค่าวฮ่ำตั้งแต่นั้นมาก็เล่นดนตรีได้ 

เครื่องดนตรีที่เล่น
เครื่องดนตรีที่สามารถเล่นได้ ได้แก่ สะล้อ ซึง และขลุ่ย หากถนัดมากที่สุดคือซึง เคยสอนสะล้อ พ่อก็พอเป็น เมื่อนึกถึงการสอนครั้งแรกก็ตลกตัวเอง มีอาการอารมณ์พาไป   ลูกศิษย์บอกว่า พ่อครูทำไมปากเบี้ยว ผมไม่รู้ตัวเลย เมื่อสอนเด็ก ป.6 อายุก็ 60 กว่าแล้ว จึงไปเรียนต่อที่ กศน. ตอนนี้จบ ม.6 แล้ว ไม่ให้น้อยหน้าเด็กเพราะเราสอนเด็ก ป.6 ดนตรีที่เล่นได้คือสะล้อ ซึง ขลุ่ย ซึงสามสาย ซึงสามสายนี้กำลังหัดเล่น

ความแตกต่างของเครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีแต่ละชนิดก็แตกต่างกัน ประเภทดีดเสียงจะเพราะ จะว่าเสียงเหมือนพิณก็ไม่ใช่ เพราะพิณมีสายเดียว แต่ซึงจะมีสองสาย เสียงจะกังวานมากกว่า สะล้อนี้เป็นเครื่องสีเสียงจะนิ่มและใหญ่ ขลุ่ยก็มีเสียงใหญ่ ขลุ่ยที่พ่อครูเล่นเป็น 2 ประเภท คือ ขลุ่ยเมือง และขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยจะแตกต่างกันที่การเป่า เช่น การเป่าแบบเมืองหรือเป่าแบบเพียงออ มีลูกศิษย์ที่เคยอยู่บ้านนี้แต่ตอนนี้อยู่มหาวิทยาลัยแล้ว พ่อครูได้สอนขลุ่ยและสะล้อตอนอยู่ตั้งแต่ ป.2 ที่ชมรมกวีล้านนาที่เค้าจัดงาน  พอขึ้นโชว์ ได้ทั้งแบงค์ร้อยและแบงค์ยี่ยิบ เวลาเด็กๆ ขึ้นโชว์ พวกผู้ใหญ่จะชอบ ปีที่แล้วเป็นตัวแทนไปแข่งขลุ่ยเพียงออ   ได้เป็นตัวแทนจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรางวัลที่ 4 ในระดับภาค ได้รับรางวัลที่ 1 ในระดับจังหวัด ปีหน้าไปแข่งอีก

หลักเกณฑ์ในการเล่นดนตรี

อันดับแรกต้องมีสมาธิ ทุกคนต้องมีสมาธิ การสอนดนตรีจะไม่ได้สอนดนตรีอย่างเดียว เช่น เมื่อถึงห้องเรียน นักเรียน ทุกคนกราบ แล้วก็ให้นั่งสมาธิ และแทรกธรรมะด้วย ความกตัญญูกตเวที สอนให้เป็นคนดีไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก   จะแนะนำและสอนให้ไปทางที่ดี การสอนนักเรียนจะแทรกธรรมะเข้าไปด้วย เด็กๆ ชอบ อย่างพ่อครูแต่งเพลงแบบธรรมะ เป็นกลอน 6 หรือกาพย์ยานี 11 และให้เขาไปใส่โน้ต ใส่ทำนองจะนำไปประกวดแต่ไม่ทันกำหนด หนังสือความดีมีอยู่คู่ชั่ว  พ่อครูใส่ทำนองเข้าไป เด็กๆ ชอบตบมือด้วย มีการเล่นซึงประกอบด้วย ถ้าหากสอนดนตรีพื้นเมืองอย่างเดียวมันจะเบื่อ จึงพักร้องเพลงเล่นดนตรีด้วย บางทีเด็กๆ อาจจะเจ็บมือหรือบางทีเด็กๆ ก็จะร้องเพลงก่อนที่จะเรียน อย่างเช่น ภาษาอังกฤษ พ่อครูไม่รู้ ไปเรียน กศน.ได้เรียนภาษาอังกฤษ ลูกก็บอกว่า ABCD อยากให้จำก็ท่องเป็นทำนองเพลง 
พ่อครูเลยเอามาใส่ทำนองเพลง (ร้องเพลง) เอาไปสอน ป.1 ชอบกันมาก ขอพ่อครูร้องเพลง ABC ทุกครั้ง เหมือนสอนภาษาอังกฤษไปด้วย เช่น การร้องเพลงความดีมีอยู่คู่ชั่ว ร้องเป็นรอบ ดนตรีเป็นรอบ แล้วท่องกลอน พ่อครูพิมพ์แล้วเอาไปมอบเป็นของขวัญวันเด็กให้แก่นักเรียนวัดล้านตอง แจกเด็ก  ทุกคน ครูเลยให้เด็กร้องเพลงหน้าเสาธงทุกวัน เด็กโรงเรียน  สันโค้ง ครูบอกให้เด็กเอาไปติดผนังบ้านด้วย

การอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมือง

เมื่อตอนอายุ 18-20 ปี พ่อครูตั้งวงดนตรีเป็นวงดนตรีพื้นเมืองประยุกต์ เป็นกลุ่มหนุ่มสาวของบ้านหนองแสะ สมัยนั้นไม่มีไฟฟ้า ใช้ตะเกียงประดับเวที มีหางเครื่องด้วยนะ พ่อครูเป็นคนดีดซึงแทนกีตาร์ ใช้โอ่งเป็นเบส มีนักร้องร้องเพลงลูกทุ่ง มีหางเครื่องไปเล่นงานหลายแห่ง เคยเล่นประชันกับลิเกคณะสมชายนาฏศิลป์ที่อยู่บ้านแม่ออนกลาง เวทีอยู่คนละฝั่งของวิหารวัด คณะสมชายไม่มีใครดูเลย และพ่อครูยังเคยไปอีสาน มีพิณ มีแคน มีเป่าโหวด ร้องเพลงลูกทุ่งได้ดี ภาคเหนือมีซึง สะล้อ จึงชวนครูแอ๊ด แต่กำหนดเป็นพื้นเมืองล้วนก็จะไม่ดัง แต่หากจะเอาอีสานมา ก็จะมาลบของภาคเหนือ เขาไม่อยากทำ พ่อครูอยากทำแต่ของพื้นเมืองเราและแต่งเพลงเข้า คิดอยากจะเอาแบบนั้นแต่ภูมิยังไม่ได้ คิดจะแต่งเพลงอยู่ อย่างงานฤดูหนาวสันกำแพงเมื่อปีที่แล้ว หมู่บ้านน้ำจำนำกลองสะบัดชัยมา พ่อครูก็ขึ้นไปกับลูกศิษย์ เขาเอากลองสะบัดชัยและกลองปู่เจ่มา พ่อครูก็ร้องเพลงโบราณ คนชอบกันใหญ่ เพลงเป็นเพลงโบราณกล่อมเด็ก ร้องเข้ากับกลองปูจา คิดไว้ว่าอยากให้เป็นแบบนั้น หากทำได้จะใช้กลองปูจา ซึง สะล้อ มาเข้าด้วยกันทำเป็นพื้นเมืองหมด น่าจะสนุกไปอีกแบบ อยากอนุรักษ์ เช่น การอย่างสอนเด็กๆ หากโตขึ้น ส่วนมากจะไปทางอื่นไม่ค่อยสนใจทางนี้ ถ้าเด็กเข้าไปอยู่ในเมืองจะเล่นกีตาร์ทางดนตรีสากลมากกว่า ดนตรีพื้นเมืองสู้ไม่ค่อยได้ เพราะไม่ค่อยมีหน่วยงานไหนสนับสนุน 

 


สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รหัสไปรณีย์ 50300
โทรศัพท์ 0-5388-5903 โทรสาร 0-5388-5900
เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 08.30 – 15.30 น.


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2559, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่