ข้อมูลพื้นฐาน


ชื่อ : พ่อครูชาย ชัยชนะ

ทักษะด้าน : ด้านกลองพื้นบ้านล้านนา

สาขา : สาขาศิลปะการแสดง

ประจำปีพุทธศักราช : 2550

หมายเลขโทรศัพท์ : 0-5322-0589

ที่อยู่ : ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 107 ซอย 22 ถนนโชตนา ตำบลป่าตัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติ :

นายชาย ชัยชนะ เกิดวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2494 ที่บ้านป่าไหน่ ณ บ้านฮ่อม (หลังวัดมหาวัน) ถนนท่าแพ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ บิดาชื่อนายสมบูรณ์ ชัยชนะ มารดาชื่อนางสมบุญ ชัยชนะ (วรรณวาสน์) มีพี่น้อง 5 คน นายชาย ชัยชนะ สมรสกับ นางปาลิตตา ชัยชนะ (ดีเหลือ) มีบุตร 2 คน คือ นางศิริภัทร ศรีสมบัติ และนายณัฐพงศ์ ชัยชนะ



ประวัติการศึกษา


พ.ศ. 2506 สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ. 2509 สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ. 2512 สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดเชียงใหม่


ประวัติการทำงาน


          เนื่องจากบ้านอยู่ใกล้วัดมหาวัน ประกอบกับอยู่แถวถนนท่าแพ จึงได้เห็นและมีประสบการณ์เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ซึ่งในอดีตถนนท่าแพจะเป็นถนนสายสำคัญที่มีการแห่ประเพณีต่าง ๆ เดิมวัดในเมืองเชียงใหม่ เมื่อมีการทำบุญ เช่น งานปอยหลวง ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ลอยกระทง งานสงกรานต์ แม้กระทั่งงานประเพณีจุดบอกไฟ มักจะมีขบวนแห่ผ่านถนนท่าแพเป็นประจำ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และบอกบุญแก่ประชาชนทั่วไป สำหรับวัดมหาวัน ศรัทธาเดิมมักเป็นชาวเชียงแสนที่อพยพมาสมัยพระยากาวิละ ต่อมามีชายไทยใหญ่ ปะโอ (ต้องสู้) พม่า (คนในบังคับของอังกฤษ) มาตั้งหลักแหล่งแถวถนนท่าแพเป็นจำนวนมาก ซึ่งนายชาย เป็นศรัทธาวัดมหาวัน จึงได้รับการบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ถึงประวัติความเป็นมาของประเพณีต่าง ๆ และสมัยก่อนหัววัดต่าง ๆ หากว่ามีงานปอยหลวง มักจะมีการประกวดขบวนแห่ครัวทาน คณะศรัทธาวัดไหนมีเครื่องดนตรี เช่น กลองตึ่งโนง กลองก้นยาว (ปู่เจ่) กลองมองเซิง และกลองถิ้งบ่อง มีช่างฟ้อนเก่ง ๆ และสล่าทำครัวทานประกวดชนะบ่อย ๆ ก็จะทำให้วัดและคณะศรัทธาวัดนั้นมีชื่อเสียงเป็นที่เล่าขาน เช่น วัดปั๋นต่าเกิ๋น (ชัยศรีภูมิ) มีชื่อเสียงด้านกลองปู่เจ่  วัดป่าเป้า และวัดผ้าขาวมีชื่อเสียงในด้านกลองมองเซิง วัดมหาวันมีชื่อเสียงในด้านกลองตึ่งโนง วัดสันป่าข่อยและวัดเกตุการามมีชื่อเสียงด้านการประกวดครัวทาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้นายชาย มีความหลงใหลและชื่นชอบในศิลปวัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ ตลอดมา โดยได้ศึกษา ติดตามผู้รู้ต่าง ๆ ในลักษณะครูพักลักจำ โดยได้ก่อตั้งคณะกลองถิ้งบ่อง วัดมหาวัน ซึ่งรวบรวมบรรดาคนหนุ่มมาเล่นกลองถิ้งบ่อง โดยการลักจำมาจากคณะกลองวัดศรีดอนไชย ต่อมาได้มีการผสมจังหวะกลองถิ้งบ่องของวัดชัยศรีภูมิกับวัดศรีดอนไชย จนทำให้วัดมหาวันมีชื่อเสียงในด้านกลองถิ้งบ่อง ต่อมาได้จัดตั้งทีมกลองปู่เจ่ กลองตึ่งโนง และกลองมองเซิงขึ้น โดยส่งเข้าแข่งขันในงานประเพณีสงกรานต์จังหวัดเชียงใหม่ ในงานประเพณียี่เป็ง ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ในนามของคณะศรัทธาวัดมหาวัดเรื่อยมา

          อีกประการหนึ่ง มารดาของนายชาย ชัยชนะ ซึ่งเกิดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยตาได้เดินทางไปรับราชการเป็นศึกษาธิการอำเภอที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมารดาได้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับประเพณีชาวไทยใหญ่ให้ฟัง จนเกิดความประทับใจ คิดว่าสักวันหนึ่งจะต้องไปจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อศึกษาศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ จากสิ่งเหล่านี้ที่สั่งสมมา จึงเป็นเหตุให้นายชายเป็นผู้รู้และเชี่ยวชาญในการตีกลอง โดยเฉพาะกลองของชาวไทยใหญ่ อีกทั้งนายชายได้เดินทางไปศึกษาวิธีการตีกลองจากชาวไทยใหญ่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ ครูบุญภพ วัฒนวงศ์ ครูสุทัศน์ สินธพทอง พ่อครูส่างลู เมืองปอน พ่อครูปุ้น ช่างเหล็ก และพ่อครูลน ช่างเหล็ก และได้แนะนำครูส่างคำ แห่งเมืองจ๊อกแม เข้ามาสอนฟ้อนนก – โต ในจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ งานปอยส่างลอง ปอยเหลินสินเอ็ด จนเป็นรู้จักของคนแม่ฮ่องสอน ในนามของปี้จายคณะก๋อง สะหล่าก่องหวาน

          ปัจจุบันนายชาย จะได้รับเชิญเป็นวิทยากร กรรมการตัดสินการประกวดกลองพื้นเมืองและให้คำปรึกษาในด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณีให้กับสถาบันการศึกษา หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังร่วมกับนายสุทัศน์ สินธพทอง ถ่ายทอดความรู้ด้านการตีกลองและการแสดงของชาวไทยใหญ่ให้แก่เยาวชนและผู้สนใจทั่วไป อีกทั้งได้พยายามจัดเก็บฝีมือหรือสล่าทำกลองรุ่นเก่า ๆโดยการเก็บ เสาะหากลอง ฆ้องรุ่นเก่า ๆ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ผลงานของสล่าในอดีต

พ.ศ. 2536 ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ โดยการนำของ ดร.เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ณ ประเทศรัสเซีย

พ.ศ. 2537 เป็นคณะกรรมการจัดงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครบรอบ 30 ปี ด้านการแข่งขันการตีกลองสะบัดไชย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พ.ศ. 2538 เป็นคณะกรรมการจัดงานฉลองไฟพระฤกษ์ซีเกมส์ และร่วมแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันซีเกมส์

พ.ศ. 2538 ร่วมแสดงในงานราชพัสตราภรณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่ 9) ณ โรงแรมรอยัล ปรินซ์เซส จังหวัดนราธิวาส

พ.ศ. 2544 ถวายการแสดงแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่ 9) และพระบรมวงศานุวงศ์ได้ทอดพระเนตร ณ ตำหนักปางตอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

พ.ศ. 2544 – ปัจจุบัน เป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันตีกลอง มหกรรมกลองล้านนา ณ วัดโลกโมฬี

พ.ศ. 2545 เป็นวิทยากรในงาน “มหกรรมก๋องปู่จาโลก” จังหวัดลำปาง

พ.ศ. 2545 – ปัจจุบัน เป็นกรรมการตัดสินการประกวดโคมลอยของสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ในงานประเพณียี่เป็ง

พ.ศ. 2546 เป็นวิทยากรในงาน “มหกรรมก๋องปู่จาโลก” จังหวัดลำปาง

พ.ศ. 2546 กิตติกรรมประกาศจากนายศุภกิจ สุบินมิตร์ ในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาดนตรี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “กลองก้นยาว : เครื่องดนตรีชาวไทใหญ่ในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน”

พ.ศ. 2547 เป็นกรรมการตัดสินประกวดกลองพื้นเมือง : กลองปู่เจ่และกลองมองเซิง ในงานปอยหลวงวัดศรีโสดา

พ.ศ. 2547 ร่วมกับโครงการ ร่วมด้วยช่วยกัน FM100 นำกลองมองเซิงเข้าร่วมขบวนแห่บวชนาค เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9)

พ.ศ. 2548 ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นำช่างฟ้อนและกลองตึ่งโนง ร่วมขงวนสรงน้ำพระบรมฐาตุดอยสุเทพ

พ.ศ. 2548 เป็นกรรมการตัดสินประกวดกลองพื้นเมือง : กลองปู่เจ่และกลองมองเซิง ในงานปอยหลวงวัดศรีโสดา

พ.ศ. 2548 ร่วมกับโครงการ “ร่วมด้วย ช่วยกัน” FM 100 นำกลองมองเซิงเข้าร่วมขบวนแห่บวชนาค เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9)

พ.ศ. 2549 เป็นกรรมการตัดสินประกวดกลองปู่เจ่ กลองสะบัดชัย กลองปู่จา ในงานปอยหลวงวัดดอยสะเก็ด


การเผยแพร่ผลงาน


  1. วีดิทัศน์การแสดง สื่อการสอนศิลปะการตีกลองสะบัดชัย งานฉลองครบรอบ 30 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. เทปเพลง แห่กลองก้นยาว (ปู่เจ่) กลองมองเซิง และกลองปู่จ่า ของบริษัททิพยเนตร
  3. เป็นผู้เขียนร่วมในสารานุกรม วัฒนธรรมไทยภาคเหนือ : ครูหมอไตย
  4. เป็นผู้ให้ข้อมูลและคำแนะนำในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ


พ.ศ. 2528                

  • โล่งชนะเลิศการแข่งขันกลองปู่เจ่ จากเทศบาลนครเชียงใหม่ ในงานสงกรานต์เชียงใหม่

พ.ศ. 2528                

  • โล่งชนะเลิศการแข่งขันกลองมองเซิง จากเทศบาลนครเชียงใหม่ ในงานสงกรานต์เชียงใหม่

พ.ศ. 2531                

  • โล่งชนะเลิศการแข่งขันกลองปู่เจ่ จากศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ในการสัมมนาเพลงและการละเล่นพื้นบ้านล้านนา

พ.ศ. 2532                

  • โล่งชนะเลิศการแข่งขันกลองตึ่งโนง จากเทศบาลนครเชียงใหม่ ในงานสงกรานต์เชียงใหม่

พ.ศ. 2534                

  • โล่งชนะเลิศการแข่งขันกลองตึ่งโนง จากเทศบาลนครเชียงใหม่ ในงานสงกรานต์เชียงใหม่

พ.ศ. 2534                

  • โล่งชนะเลิศการแข่งขันกลองปู่เจ่ จากสโมสรไลออนส์นครพิงค์และเทศบาลนครเชียงใหม่ บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) ในงานประเพณีลอยกระทงเชียงใหม่

พ.ศ. 2534                

  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้น 4 จัตุรถาภรณ์

พ.ศ. 2537                

  • เกียรติบัตรขอบคุณ ผู้ฝึกสอนศิลปวัฒนธรรม จากชมรมพื้นบ้านล้านนา สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2540                

  • โล่งชนะเลิศการแข่งขันกลองมองเซิง จากเทศบาลนครเชียงใหม่ ในงานสงกรานต์เชียงใหม่

พ.ศ. 2541                

  • โล่งชนะเลิศการแข่งขันกลองมองเซิง จากเทศบาลนครเชียงใหม่ ในงานสงกรานต์เชียงใหม่

พ.ศ. 2542                

  • โล่งที่ระลึกในงานมรดกล้านนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น 500 ปี วัดศรีสุพรรณ

พ.ศ. 2544                

  • โล่งที่ระลึก จากชุมชมหมื่นสาร วัวลาย กาดม่วนคัวเงิน-ฮัก-หาง วัดศรีสุพรรณ

พ.ศ. 2546                

  • กิตติกรรมประกาศ จากนายศุภกิจ สุบินมิตร์ ในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาดนตรี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “กลองก้นยาว : เครื่องดนตรีชาวไทใหญ่ในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน”

พ.ศ. 2547                

  • โล่งศิษย์เก่าดีเด่น จากสมาคมศิษย์เก่า โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย รุ่น 2509

พ.ศ. 2548                

  • ประกาศเกียรติบัตรชนะเลิศการตีกลองมองเซิง จากเทศบาลแม่ฮ่องสอน งานปอยเหลินสิบเอ็ด

พ.ศ. 2549      

  • ประกาศเกียรติบัตรการตัดสินแข่งกลองปู่จา ในงาน 10 ปี (1 ทศวรรษ) จากองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

ชีวิตปัจจุบัน



บทสัมภาษณ์


แนะนำตัว

พ่อครูชาย ชัยชนะ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2494 ที่บ้านท่าแพ หลังวัดมหาวัน ตำบลช้างคลาน ได้รับรางวัลเพชรราชภัฏ- เพชรล้านนาเมื่อ พ.ศ. 2550 ปัจจุบันเป็นอุปนายกสมาคมกลองและการแสดงแห่งจังหวัดเชียงใหม่ พ่อครูชายจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นก็ได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ หลังจากจบการศึกษาได้เข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วโอนย้ายไปทำงานที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากปลดเกษียณ พ่อครูชายได้เข้าทำงานที่โรงเรียนขาลสุวรรณ

กลองพื้นเมืองมีกี่ประเภท 

กลองพื้นเมืองมีหลายแบบ ได้แก่ กลองปู่จา กลองบัดชัยแบบเก่า กลองสะบัดชัยแบบประยุกต์ (กลองที่มีนาค) ซึ่งมีพ่อครูคำ  กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้นำกลองสะบัดชัยเข้ามาในเชียงใหม่ และกลองที่ภาคเหนือต้องมีทุกวัดคือ กลองตึงโน่ง มีไว้สำหรับ   แห่คัวทาน หรือฟ้อนเล็บ กลองปู่เจ่ และกลองมองเซิง เป็นกลองที่มาจากวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ โดยชาวไทยใหญ่ เรียกว่า กลองก้นยาว มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ และกลอง    ถิ้งบ่อง ที่กล่าวมาส่วนใหญ่จะเป็นกลองที่นิยมใช้กันทั่วไปในภาคเหนือ โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ที่เป็นหลักในเรื่องวัฒนธรรม

ความเป็นมาของกลองปู่จา
ในสมัยพญามังราย มีกฎหมายกลองบังคับใช้ เป็นกลองที่มีบทบาทในด้านการเมืองการปกครอง โดยจะใช้กลองปู่จาเพื่อบอกสัญญาณ ประชาชนต้องทราบความหมายของเสียงกลองแต่ละชนิด เช่น หากตีกลองเสียงนี้หมายถึงไฟไหม้ หากตีกลองเสียงนี้หมายถึงเกิดเหตุร้าย หากตีกลองเสียงนี้หมายถึงงานสนุกสนานรื่นเริง หรือหากตีกลองเสียงนี้หมายถึงการประชุม เป็นต้น ภายหลังประเทศมีความเจริญมากขึ้น กลองปู่จาก็ไม่ค่อยมีบทบาท จึงย้ายกลองมาอยู่ที่วัด นำมาไว้ที่หอคอยวัด เรียกว่า หอกลอง และใช้ตีในงานสำคัญของวัด เช่น วันก่อนวันพระ วันเข้าพรรษา หลังเวลาเทศน์ งานปอยหลวง งานก๋วยสลากและงานรื่นเริงต่างๆ

ความเชื่อเรื่องกลองสะบัดชัย

กลองสะบัดชัยส่วนใหญ่มักถูกนำไปออกรบ แต่ด้วยภูมิประเทศภาคเหนือเป็นภูเขา จึงไม่สามารถแบกกลองสะบัดชัยขึ้นไปได้ จึงนิยมใช้ฆ้องแทนและใช้เพื่อบอกสัญญาณการรบ เช่น เสียงกลองเพื่อโจมตี เสียงกลองเพื่อถอยทัพ เสียงกลองเพื่อ ชัยชนะ  เป็นต้น กลองสะบัดชัยในเชียงใหม่มีที่มาจากพ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ ในการนำกลองสะบัดชัยที่มีนาคเข้ามาตี ในการตีกลองสะบัดชัยต้องใช้ทั้งศอกและเข่า ใช้ในโอกาสต้อนรับแขกบ้าน   แขกเมือง ปัจจุบันกลองสะบัดชัยถูกยกย่องเป็นกลองที่เชิดหน้าชูตาให้กับเมืองเชียงใหม่

ความเป็นมาของกลองตึ่งโนง

กลองตึ่งโนงเป็นกลองที่มีอยู่ทุกวัด เพราะวัฒนธรรมของชาวเชียงใหม่มีประเพณีหนึ่งที่เรียกว่า ปอยหลวง ซึ่งเป็นงานฉลองสิ่งก่อสร้างของวัด ที่ประชาชนช่วยกันทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ชาวเชียงใหม่จึงมีการฉลองด้วยการใช้     เครื่องดนตรีต่างๆ โดยเฉพาะกลองในการแห่คัวทานเข้าวัด

การตีกลอง

กลองที่มีแบบแผนการตีเหมือนกันคือกลองตึ่งโนง แต่กลองที่มีแบบแผนการตีไม่เหมือนกลองอื่นคือกลองปู่จา แต่เสียงจะคล้ายๆ กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น กลองที่มีการไหว้ครูก่อนตีกลอง คือ กลองสะบัดชัย ส่วนกลองอื่นๆ ไม่มี วงหนึ่งใช้จำนวนคนประมาณ 6-7 คน และการ  ตีกลองมองเซิงจะใช้คนเยอะที่สุด ส่วนเครื่องดนตรีจะแตกต่างกันที่ส่วนประกอบ ส่วนใหญ่จะประกอบกับฆ้อง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรี    ที่สำคัญ นอกจากฆ้องก็มีฉาบใหญ่

ผู้ที่สนใจเรียน

ปัจจุบันมีผู้สนใจเรียนตีกลองมากมาย ทั้งเด็กและวัยรุ่น โดยพ่อครูระบุว่า สำหรับคนที่สนใจเรียนตีกลองนั้น ขอแค่มีใจรักในการตีกลอง ก็จะสามารถเรียนตีกลองได้ โดยปัจจุบันผู้หญิงก็สามารถเรียนตีกลองได้

การอนุรักษ์การตีกลอง

พ่อครูชายระบุว่า การอนุรักษ์การตีกลองนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า โดย ” คนรุ่นใหม่ก็ต้องฝึก ส่วนคนรุ่นเก่าก็ต้องไม่ทิ้ง ” คนรุ่นใหม่ต้องศึกษาว่าควรถ่ายทอดหรือปรับปรุงการตีกลองอย่างไร สถาบันต่างๆ ก็ต้องมีส่วนช่วยกันอนุรักษ์ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งคนที่สนใจเรียนการตีกลองจริงๆ ก็ต้องมีความอดทนในการเรียนรู้
 


 


สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รหัสไปรณีย์ 50300
โทรศัพท์ 0-5388-5903 โทรสาร 0-5388-5900
เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 08.30 – 15.30 น.


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2559, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่