ข้อมูลพื้นฐาน


ชื่อ : พ่อครูเนตร พันธ์ชัยศรี

ทักษะด้าน : ด้านศิลปะประดิษฐ์ การทำกลอง

สาขา : สาขาภูมิปัญญา

ประจำปีพุทธศักราช : 2552

หมายเลขโทรศัพท์ : 081-746-6825

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 29 ม.7 ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300

ประวัติ :

นายเนตร พันธ์ชัยศรี เกิดวันที่ 1 มกราคม 2504 บิดาชื่อ นายยืน พันธ์ชัยศรี มารดาชื่อนางยวง พันธ์ชัยศรี เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน นายเนตร พันธ์ชัยศรี สมรสกับนางบัวชุม พันธ์ชัยศรี (พรมมิตร)



ประวัติการศึกษา


สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านท่าหลุกสันทราย ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่


ประวัติการทำงาน


นายเนตร  พันธ์ชัยศรี ได้ศึกษาการทำกลองพื้นบ้านล้านนาด้วยตนเอง โดยการสังเกตและช่วยเหลืองานกับสล่าคำ พรมวงศ์  ช่างทำกลองซึ่งเป็นลุง และได้สังเกต สอบถามการทำกลองจากสล่าที่สร้างกลองทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้านด้วยมีแรงจูงใจที่อยากจะมีกลองเป็นของตนเองซึ่งในสมัยนั้นเวลาจะตีกลองจะต้องไปขอยืมจากวัดหรือสล่ากลอง ซึ่งยากมากกว่าที่เขาจะให้ยืมเพราะกลัวจะทำให้กลองของเขาเสียหาย ครั้งจะซื้อก็ไม่มีเงิน นายเนตรจึงไปปรึกษากับบิดาแล้วไปยืมกลองจากวัดมาศึกษาดูเป็นต้นแบบจากนั้นจึงลงมือฝึกสร้างกลองด้วยตนเองโดยได้รับคำปรึกษาและแนะนำจากบิดา ซึ่งบิดานายเนตรได้ไปร่วมแห่กลองของวัดท่าหลุกจึงทำให้มีประสบการณ์ในเรื่องกลองล้านนา

นายเนตร  พันธ์ชัยศรี มีใจชื่นชอบในเรื่องของดนตรีพื้นบ้านล้านนา โดยเฉพาะกลองล้านนา อาทิ กลองมองเซิง กลองตึ่งโนง กลองปูเจ่ และสามารถตีกลองเหล่านี้ได้อย่างชำนาญ ในปี พ.ศ.2527 นายเนตร ได้เริ่มทำกลองปู่เจ่เป็นครั้งแรกโดยการสนับสนุนของบิดาและได้นำมาแก้ไขปรับปรุงจนมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากสล่ากลองหลายๆท่าน และได้รับการสนับสนุนให้คำปรึกษาจากอาจารย์ชาย ชัยชนะ เพชรราชภัฏ – เพชรล้านนา ประจำปีพุทธศักราช 2549-2550โดยท่านให้ยืมกลองเพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างกลองและช่วยเสนอ ติดต่อ จำหน่ายกลอง ให้กับหน่วยงานราชการ วัด โรงเรียน และสล่าทั่วไป นายเนตรจะใช้เครื่องมือแบบโบราณในการทำกลองแต่ละลูกซึ่งใช้เวลาในการทำเป็นเดือนๆ จึงจะทำเสร็จต่อมาได้รับความอนุเคราะห์จากนายสุรสรวง จอมแปง มาสร้างโคลงเสา (ค้างกลึง) และจัดหาเครื่องมือที่ทันสมัยในการกลึงกลองทำให้ลดเวลาในการสร้างกลองลงมาเหลือประมาณ 15 วันก็สำเร็จ

ปัจจุบัน นายเนตร  พันธ์ชัยศรี  ได้พัฒนาฝีมือจนสามารถประดิษฐ์กลองประเภทต่างๆให้มีทั้งคุณภาพ ความสวยงาม และเอกลักษณ์เชิงช่างเฉพาะตัว ออกจำหน่าย ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และต่างจังหวัด


การเผยแพร่ผลงาน


นายเนตร  พันธ์ชัยศรี ร่วมกับอาจารย์อนันท์ สมบูรณ์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลสันผีเสื้อ ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา เพื่อสอนดนตรีพื้นบ้านล้านนา และนาฏศิลป์ให้แก่นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจซึ่งผู้ที่มาเรียนสามาถนำไปแสดงในงานวัด ชุมชนและงานสำคัญๆของจังหวัดหลายต่อหลายครั้งความรู้เกี่ยวกับการทำกลองล้านนา แก่นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการในสถาบันการศึกษาทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และต่างจังหวัดอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับ อาจารย์ชาย ชัยชนะ อาจารย์สุทัศน์ สินธพทอง บันทึกเทปการแห่กลองตึงโนง กลองมองเซิงและกลองปูเจ่ ออกจำหน่ายและได้รับการยอมรับจากประชาชนเป็นอย่างดี


รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ



ชีวิตปัจจุบัน



บทสัมภาษณ์


แนะนำตัว
พ่อครูเนตร พันธ์ชัยศรี บ้านท่าหลุก ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้รับรางวัลเพชรราชภัฏ-เพชรล้านนา ปีพ.ศ. 2552 ด้านการผลิตกลองตึ่งโนง พ่อครูมีความสนใจเรื่องกลองและการทำกลองตั้งแต่วัยเด็ก การทำกลอง เมื่อก่อนยังไม่มีการสอนพ่อครูเลยต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยการฝึกตีกลองไปเรื่อยๆ โดยฝึกทั้งกลองตึ่งโนงและกลองปู่เจ จากนั้นอายุ 21-22 ปี เริ่มค้นหาวงการและสถานที่การทำกลอง จึงรู้ว่าที่อำเภอ  สันทรายมีการสอนทำกลอง จึงขอให้เขาสอน พ่อครูเล่าว่า “เขาพูดว่าจากที่เขาเคยทำเคยสร้างมาก็ไม่ได้เรียนรู้จากใครมา คือทำเองทำมาจากสมองของเราเอง ได้เรียนรู้เองทั้งวิธีตั้งหลัก มัดเชือกยังไง ลับมีดตีมีด ยังไง แอบไปศึกษาของเขามาดัดแปลงบ้าง และได้ไปศึกษาต่อที่บ้านเกาะมูล พ่อน้อยเลิศ พ่อน้อยเลิศไม่ใช่คนทำกลอง แต่พ่อเลิศ เป็นคนเก่งเป็นคนคิดจะรู้จักเสียงกลอง รู้วิธีทำเสียงกลอง ส่วนคนมัดเชือกคือพ่อต๋า จากนั้นผมมาบ้านแม่ย่อย ไปหาพ่อหนานหล่องจะเป็นคนมัดเชือกกลองและไปศึกษาวิธีมัดกลอง ศึกษาเอง พ่อหนานหล่อง บอกว่าเขาก็ศึกษาเรียนรู้มาเองจากผู้เฒ่าผู้แก่  ผมก็ลองศึกษาดูว่าเขาทำยังไง มัดยังไงเว้นระยะกว้าง ห่างเท่าไหร่ ลูกหลากมีกี่ลูก  เราต้องคิดดัดแปลงเอง ทำเอง”

ประเภทของกลองล้านนา

กลองล้านนามีอยู่หลายประเภท มีกลองตึ่งโนง กลอง    ทิงมองทิงบ่อง กลองที่มาจากอยุธยาจะเป็นกลองยาว กลองล้านนามีมานานแล้ว เช่น กลองปู่จา กลองสะบัดชัย กลอง  ติ่งทิ่งที่มาจากมอญก็ถือว่าเป็นกลองล้านนา กลองปู่เจ่ของ    พี่น้องไทยใหญ่ ของเราจริงๆ ก็กลองตึ่งโนง สะล้อซอซึง สำหรับกลองสะบัดชัยนิยมเล่นกันแพร่หลายทั้งแพร่ น่าน และบางจังหวัดในภาคใต้ แต่จะมีวิธีการแห่ที่แตกต่างกัน สำหรับภาคเหนือจะเป็นตึ่งโนง สำหรับภาคใต้จะเป็นโต่งเส้ง

กลองหลวง

กลองหลวงคือกลองสะล้อ เป็นของลำพูน เขาใช้ไม้ประดู่ทำใหญ่มาก คนสมัยก่อนทำยังไงกลึงยังไงไม่มีใครรู้ แต่ตอนนี้เขาใช้รถไถนาหมุนแล้วก็มัดเชือก ส่วนการเจาะรู้เสียงต้องให้เสร็จภายใน 1 วันห้ามเกินวันนี้ มันเป็นความเชื่อของคนลำพูน ถ้าทางบ้านเราบางคนทำเอาฤกษ์ไว้ก่อนแล้วค่อยทำต่อๆ ไป

กลองตึ่งโนง

การทำกลอง ตึ่งโนง ตอนนี้ต้องใช้ไม้ขนุน ต้องวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางให้พอดีตามต้องการ ถ้าเราจะทำหน้ากลอง 12 นิ้ว เราต้องทำให้ถึง 15 นิ้วแล้วค่อยเวียนหน้ากลอง เมื่อก่อนเขาเรียกว่า ผัดมอญ จะใช้ไม้วัดขนาดมีตอกตะปูกะระยะตามต้องการเสร็จแล้วลากเวียนให้เป็นวงกลมเป็นรูจะพอดี

การเลือกไม้ทำกลอง

ต้องเลือกไม้ที่ดีๆ เช่น ไม้ขนุน ลำตันตรง อายุเยอะ เสียงจะได้ดี ถ้าจะให้ดีที่สุดต้องไม้ประดู่ แต่ตอนนี้หายากเอามาไม่ได้ มีพระมาจ้างทำแต่ไม่รับ เพราะกลัวทำไม่ไหวถ้ามีผู้ช่วยหลายคนน่าจะทำได้อยู่ภายในหนึ่งอาทิตย์

หนังทำกลองกับเชือก

หนังกลองต้องดูให้ดีดูผ่านแดดว่าแผ่นหนังมีสภาพดีไหมสภาพต้องดี เรียบ เสร็จเอามาทาบกับหน้ากลอง ขุดผิวหนังหน้ากลอง แล้วนำมาขึงเข้ากับกลองจะใช้เชือกหรือว่าหนังยึด ถ้าเป็นเชือกจะง่าย แต่ถ้าเป็นหนังจะยากและต้องใช้เวลาทำหลายขั้นตอน แต่ถ้าเป็นหนังฟอกไม่ควรใช้เพราะถ้าหนังไม่ดีมันไม่ดีเสียงก็จะไม่ดีด้วย เพราะหนังฟอกจะขาดความยืดหยุ่น การทำหนังต้องแช่น้ำก่อน  แช่ให้อืด แล้วนำมาขึงกับวงล้อไว้ ตากแดดประมาณ 2 วัน

ระยะเวลาในการทำกลอง

ขั้นตอนทั้งหมดในการทำกลองให้เสร็จน่าจะใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ถ้ามีผู้ช่วย แต่ถ้าทำคนเดียวจะใช้เวลานานเกือบหนึ่งเดือน 

กลองปู่เจ่

ใช้ไม้ซอ ไม้ขนุน ไม่มะม่วงเหมือนกัน ไม้ซอเป็นไม้หวงห้ามนำมาทำไม่ได้ เลยต้องใช้ไม้ขนุนหรือไม้มะม่วง ซึ่งตอนนี้เริ่มหายาก ขนาดของกลองปู่เจ่ของพี่น้องไทยใหญ่จะมีหลายขนาด แต่ที่ทำอยู่จะยาว 1.36 เมตร การตีเราจะตีทั้งด้านหน้าและทุบทำให้เสียงในการ เข้าจังหวะออกมาดีไพเราะ จุดตรงกลางหน้ากลองเรียกว่าขี้จ่า หรือจ่ากลอง ทำให้เสียงกลองดีและไพเราะ ถ้าเราไม่ใส่จ่ากลองเสียงจะดังไม่ดี กลองทุกตัวต้องมีจ่ากลอง จ่ากลองเมื่อก่อนทำมาจากขี้เถ้ากับขนมจีนที่ใช้วิธีทำแบบโบราณผสมกัน ตอนนี้เริ่มใช้ข้าวเหนียวผสมกับขี้เถ้า การตกแต่งหูหิ้วกลอง มีหลายอย่าง ส่วนใหญ่หุ้มแบบพื้นเมืองท้องถิ่น การแต่งจะเดินเส้น 3 รอบพอดี กลองกับการผูกโฉลก คือโฉลกลูกหมาก แบบสี่ลูก หกลูก แปดลูก ไม่ควรใช้ห้าลูกมันไม่ดี พิธีกรรมการทำกลอง ความเชื่อเรื่องวันดี ไม่ดี เช่นถ้าจะเจาะรูกลองให้หาฤกษ์ยามที่ดีหรือถ้าจะให้ดีควรเจาะเป็นปฐมฤกษ์ก่อน แต่ถ้าให้ดีต้องเจาะวันเดียวให้เสร็จ ส่วนวิธีการมัดหน้ากลองจะทำพิธีไหว้ครู ดอกไม้ธูปเทียนข้าวตอกดอกไม้ เพื่อไหว้ครูบาอาจารย์ที่สอนมา ทำด้วยความสบายใจห้ามเครียด

การอนุรักษ์
พ่อครูยินดีที่จะถ่ายทอดการทำกลองให้กับเยาวชนรุ่นหลัง แต่ผู้ที่มาเรียนจะต้องมีใจรัก เชื่อฟังครู ทำตามที่สอน ใจต้องมั่นคง 

ทำกลองให้ศิลปินแห่งชาติ

พ่อครูพัน (อ.มานพ ยาระณะ) ศิลปินแห่งชาติได้ทาบทามให้พ่อครูทำกลองสะบัดชัยโบราณ คือขนาดของไหจะยาวหน่อย คล้ายกลองปูจาภาคเหนือ ไหของกลองจะเป็นโขง เพราะเกี่ยวกับเสียง จะเปลี่ยนไป เสียงสั่นดีขึ้น กึกก้องกังวาน ความยาวหน้ากลองกว้างกว่า ต่อมามีลูกศิษย์ของพ่อครูพัน อาจารย์นาฏศิลป์เชียงใหม่ อ.มงคลได้มาสอบถามเกี่ยวกับการทำกลองสะบัดชัยโบราณ จากนั้นก็เปลี่ยนชื่อเป็นกลองชัยมงคล จนถึงปัจจุบัน และกลองชุดนั้นยังอยู่ที่บ้านพ่อครูพัน
 


สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รหัสไปรณีย์ 50300
โทรศัพท์ 0-5388-5903 โทรสาร 0-5388-5900
เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 08.30 – 15.30 น.


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2559, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่