ข้อมูลพื้นฐาน


ชื่อ : พ่อครูก๋วนดา เชียงตา

ทักษะด้าน : ด้านซอพื้นเมือง

สาขา : สาขาศิลปะการแสดง

ประจำปีพุทธศักราช : 2545

หมายเลขโทรศัพท์ :

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 14 หมู่ 4 ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน

ประวัติ :

เกิดวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2494



ประวัติการศึกษา


จบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนห้วยงูสิงห์ จังหวัดลำพูน


ประวัติการทำงาน


ในปี พ.ศ. 2520 - ปัจจุบัน พ่อครูก๋วนดาได้เข้าร่วมแสดงในคณะดาวรุ่งเชียงใหม่ ในตำแหน่งช่างปี่ในปี พ.ศ.2526 ทั้งเครื่องเสียง ทั้งเครื่องดนตรี คณะลูกทุ่งฮิมดอย ได้ตั้งขั้นประมาณ 14 ปีเศษ ในปี พ.ศ.2540 พ่อครูก๋วนดาได้เลิกทำวงเพราะรู้สึกเหนื่อย อีกทั้งมีอายุที่มากแล้วทำให้กลับไปทำงานหนักเหมือนสมัยก่อนไม่ได้ นอกจากนี้พ่อครูก๋วนดายังมีผลงานการบันทึกปี่จุมหลายชุด เช่น ชุดปี่แก้วเสียงทิพย์ ชุดเมียน้อย ฯลฯ นอกจากนี้พ่อครูก๋วนดายังสามารถดีดซึงได้อีกด้วย นอกจากการบรรเลงเครื่องดนตรีและการขับซอแล้ว พ่อครูก๋วนดายังมีความสามารถในการประดิษฐ์เครื่องดนตรีปี่จุม ทั้งที่ใช้เป่าเอง เผยแพร่และแบ่งปันให้กับลูกศิษย์อีกด้วย
 


การเผยแพร่ผลงาน


  • บทซอประพันธ์เอง ชื่อชุดประเพณีและวัฒนธรรม ซอโดยพ่อครูก๋วนดา เชียงตาและแม่ครูแสงเอ้ย สุริยะมล ความยาว 46 จิ่ม 1 ม้วน
  • บทซอประพันธ์เอง เรื่อง สุมาครัวตาน
  • แถบบันทึกเสียงสาธิตการเดี่ยวปี่เล็ก ปี่ก้อย ปี่กลางและปี่แม่ 1 ม้วน

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ



ชีวิตปัจจุบัน



บทสัมภาษณ์


แนะนำตัว
สวัสดีครับ ผมชื่อว่า พ่อครูก๋วนดา เชียงตา อยู่บ้านพระเจ้านั่งโก๋น อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการ   ยกย่องว่าเป็นศิลปินพื้นบ้านล้านนา ทางด้านการซอและการเล่นดนตรีพื้นเมืองทุกอย่าง รวมถึงการอนุรักษ์เพลงเก่าๆ ทางพื้นบ้านล้านนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้มอบรางวัลเพชรราชภัฏ-เพชรล้านนาและทางพ่อครูเองก็ให้ความร่วมมือและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงทางพื้นบ้านล้านนา

ชีวิตในอดีต
พอเข้าสู่วัยหนุ่มพ่อครูก๋วนดา เชียงตา ได้รับการผลักดันจากพ่อแก้ว เชียงตา ที่สนับสนุนให้พ่อครูได้เรียนรู้เกี่ยวกับการขับซอ ในปี พ.ศ.2519 ในขณะนั้นมีอายุราว 19 ปี ได้มีโอกาสมาศึกษาการขับซอพื้นเมืองกับแม่ครูจันทร์สม สายธารา โดยเรียนแบบท่องจำบทซอต่างๆ ในขณะเดียวกันได้มีโอกาสติดตามแม่ครูจันทร์สม สายธารา แสดงตามที่ต่างๆ เพื่อเรียนรู้ทักษะต่างๆ จากแม่จันทร์สมเป็นเวลา 3 ปีเศษ จึงสามารถ  ขับซอได้ แต่พ่อครูก๋วนดารู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ตนเองชอบที่สุด พ่อครูก๋วนดาได้ค้นพบว่าตัวเองสนใจการเป่าปี่มากที่สุด จึงศึกษาด้วยตนเอง ฝึกหัดเป่าปี่ในเวลาว่าง โดยจะอาศัยการฟังแถบบันทึกเสียงต่างๆ การเป่าปี่นี้จึงเป็นแรงผลักดันให้พ่อครู  ก๋วนดาได้ฝึกฝนและยึดเป็นอาชีพตั้งแต่นั้นมา

แรงบันดาลใจในการเป็นช่างซอ

ต้นจากพ่อของพ่อครูที่ชอบด้านการซอพื้นเมืองล้านนามาก จึงผลักดันให้พ่อครูก๋วนดา ณ ตอนนั้นเป็นพี่ชายคนโตของบ้านไปศึกษาเรียนรู้ทางด้านการซอพื้นบ้าน เดิมทีพ่อครู   ก๋วนดา เป็นคนอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ปัจจุบันแยกออกมาเป็นอำเภอทุ่งหัวช้าง จากบ้านเดินเท้าออกมาทางหลวง 20 กิโลเมตร ไม่มีรถผ่านต้องเดินออกมาเพื่อไปเรียนซอ ในขณะนั้นแม่ครูจันทร์สม สายธารา มีชื่อเสียงมากเรื่องการซอ จึงเดินทางมาเรียนกับแม่ครู ไม่ได้เสียเงินค่าเรียน แต่แม่ครูให้ทำงาน   ไม่ว่าจะทำไร่ทำนาทำสวน ทำทุกอย่างไม่มีบ่น มีชีวิตแบบนั้น 3 ปี การเรียนใช้วิธีการฝึกฝนด้วยตัวเอง ไม่มีใครสอนว่าต้องทำอย่างไร ครูอาจารย์ที่สอนก็ไม่ค่อยมีเวลา เล่นให้ดูแล้วก็ผ่านไป พ่อครูก๋วนดาเองต้องคอยสังเกตและจดจำ ฝึกฝนด้วยตนเอง บันทึกในคลาสเซ็ทไว้ แล้วฟังย้อนหลัง การทำปี่ก็เช่นกัน  มีความสนใจเวลาคนอื่นทำก็ไปนั่งดู เค้าไปตัดไม้ทำไม้เราก็ไปนั่งดูไม้ที่ใช้ทำเป็นต้น ใช้วิธีการเรียนรู้แบบนี้มาตลอด 10 ปี เมื่อก่อนการขับซอพื้นเมือง ใช้ปี่จุ่ม 3 เล่มเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ได้มีการนำซึงเข้ามาบรรเลงร่วมด้วย ด้วยการนำของพ่อครูอินถา ไชยวุฒิ ซึ่งประดิษฐ์ทำนองในการเข้าซอเอง โดยไม่มีโน้ตอะไรมาก่อน ปัจจุบันนี้พ่อครู   ก๋วนดาสืบสานและนำซึงมาใช้ในการขับร้องซอทุกครั้ง      ขาดไม่ได้เลยทีเดียวเพื่อเพิ่มความไพเราะ ขาดปี่ 1 เล่มเล่น 2 เล่มได้ แต่ขาดซึงไปจะขาดความไพเราะทันที

ประเภทของซอ

ซอมี 1 แบบ แต่มีหลายทำนอง เป็นช่างซอต้องสามารถซอได้ทุกทำนอง มีประมาณ 8 ทำนอง คือ ตั้งเชียงใหม่ จะปุ ละม้าย เงี้ยว พม่า พะลอ ล่องน่าน ปั่นฝ้าย ทำนองล่องน่านและปั่นฝ้ายมาจากจังหวัดน่าน เป็นทำนองของคนน่าน แต่เชียงใหม่เอามาร้องเป็นทำนองของคนเชียงใหม่ ไม่เหมือนกับน่านเลยทีเดียว เพราะเราไม่สามารถร้องได้เท่ากับต้นฉบับคนน่านจริงๆ แล้วเอาแต่ทำนองมา แต่สำเนียงเป็นคนเชียงใหม่เหมือนเดิม

ทำนองซอที่ชอบ
พ่อครูชอบทุกทำนองและคนที่เป็นช่างซอต้องสามารถซอได้ทุกทำนอง ทุกบท การซอจะขึ้นตั้งเชียงใหม่ก่อนและจะต้องมีจะปุ ละม้ายทุกครั้ง ทุกงาน จะขึ้นด้วยตั้งเชียงใหม่ประมาณ 3 ครั้ง ต่อจากนั้นก็จะเป็นเงี้ยว เป็นพม่า แต่ละทำนองจะใช้ในเวลาที่ต่างกัน ช่วงเช้าก็จะซอตั้งเชียงใหม่ จะปุ ละม้ายเป็นหลัก หัวใจของงานต่างๆ ก็คือเจ้าภาพงาน งานที่เราไปเป็นงานอะไร ขึ้นบ้านใหม่ สอบถามประวัติเจ้าภาพ เอาวันที่เป็นที่ตั้ง เช่นวันนี้

“วันที่ 3 ตุลา กระผมก๋วนดา จะขอไหว้กราบ
ขอสวัสดีท่านเจ้าภาพ ทั้งมวลชนหมู่มากและพี่น้องทุกคน”

เราจะต้องทำความคุ้นเคยกับคนมาฟังซอ แนะนำตัวเองและเพื่อนร่วมซอร่วมกับช่างปี่จุมด้วย ทำตัวให้ร่าเริงมีความสุข ถึงจะมีความทุกข์โศกเพียงใดก็เก็บไว้ที่บ้านก่อน เจ้าภาพมีตำแหน่งอะไร มีลูกกี่คน เป็นอย่างไร เช่น เมื่อก่อนลำบากมาก่อน แต่ปัจจุบันมีเงินหมื่นเงินแสนเงินล้าน เป็นต้น คำพูดดีๆ ที่เราจะใส่เข้าไป ก่อนที่เราจะซอ เช่น งานปอยหลวงหรืองานบุญใหญ่ สมมุติว่าจะงานบุญถวายสร้างวิหารใหม่ เริ่มสร้างมากี่ปี หมดงบประมาณไปเท่าไหร่กว่าจะเสร็จ เอาช่างจากที่ไหน ใครเป็นผู้ออกแบบ เราจะเอาข้อมูลมาให้หมดถ้าเป็นไปได้ เจ้าอาวาสและคณะกรรมการ ผู้ใหญ่บ้าน กำนันที่เกี่ยวข้องในงาน ทำนองซอเราก็จะซอละม้ายเป็นหลัก เพราะว่า มันจะชัดเจน ทุกคำพูด คนฟังจะฟังได้ทุกวัย ทุกคน ทำนองอื่นไปจะออกหวานๆ มันจะยืดเยื้อ จะเอาประติดประต่อไม่ได้ ละม้ายจะเป็นคำต่อคำ คนฟังรู้เรื่อง คนซอจะควบคุมเนื้อหาได้และควบคุมเวลาได้ ไม่เกินเที่ยงวันเราจะต้องลงเวทีแล้ว ตัวอย่างทำนองละม้าย

“ทันทีที่มองเห็น ผู้หญิงที่เหมือนช้างเผือกในป่า
ไม่เคยได้พบได้เจอ มาพบเจอคนสวยอย่างสม่ำเสมอ
อยากเอาติดอก เอามาพกติดหลัง อยากชวนคนงาม
มาอยู่ตำบลดอนแก้ว สองคนเมื่อได้รักกันแล้ว 
เปรียบเหมือนกับแว่นแก้วกับน้อยใจยา”

เป็นลักษณะซอเกี้ยวสาวเปรียบเทียบเหมือนสาวเป็นช้างเผือกในป่า ปั๋งบะห้าเปรียบผิวสวยงามสดใสเหมือนเพชรพลอย งามแอ้วแร้วคืองามสม่ำเสมอไม่ต้องเสริมเติมแต่ง เพราะซอนี้จะใช้คำพูดสละสลวย แม่แขนหลวยลั่นปล้องก็หมายถึงแขนสวยงาม แม่ผีปั้นเป้า บางคนก็งงว่า อะไรก็คือ ผีปั้นเป้า ก็คือผีปั้นไว้แล้วเกิดมาแล้วสวยเลย มาพูดให้สาวที่เราชอบ คนซอจะต้องหาคำพวกนี้และจดจำไว้ ก่อนเที่ยงไม่ให้มีเรื่องอื่นมาปน ไม่ให้เล่นมากเกินไป ไม่ให้จริงจังจนเกินไป ให้ฟังสบายๆ หลังทานอาหารกลางวันแล้ว ตั้งแต่เวลา 13.00 - 16.00 น. จะมีการขึ้นเวทีเป็นคู่ จะต้องมีข้อมูลใหม่ ไม่ซ้ำกับข้อมูลของซอคู่แรก แต่การขึ้นซออันเดียว คือเริ่มตั้งเชียงใหม่ จะปุ ละม้าย เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเนื้อหาสาระ อาจจะเอาเรื่องธรรมมะ เรื่องศีล ศีล 5 บุญคุณพ่อแม่ หลายๆ เรื่องต้องสรรหาไว้ คู่ซอต้องพร้อมใจคุยกันก่อน นัดแนะกันก่อน เรื่องที่ 1 เอาเรื่องนี้ เรื่องที่ 2 หรือ 3 เวลาหมดก่อนก็ต้องหาสำรองเข้ามา  บางทีก็จะมีโทษของเหล้าสุรา ยาเสพติด การพนัน พวกนี้ต้องเอามา รถซิ่ง รถแว้น เราต้องเอามาเป็นเรื่องสมัยใหม่ เป็นเรื่องเลวร้ายน่าห่วงใย เหตุการณ์สมัยใหม่ที่ออกข่าวดังๆ เช่นเหตุการณ์ภาคใต้ระเบิด ตำรวจ ทหาร ครูที่เสียชีวิต อันนี้เป็นช่วงบ่ายต้องตื่นเต้นคึกคัก จากหลังจากเป็นเวลา 17.00 น. ไปถึง 19.00 น. ถ้าเป็นฤดูร้อนจะมืดช้าหน่อยแสงสว่างอยู่ จะใช้เป็นหมวดจิปาถะ เริ่มซอแบบสองแง่สองง่าม แต่พยายามไม่ให้มีคำหยาบ เพราะว่าจำเป็นต้องมี ไม่มีไม่ได้ เพราะว่าคนฟังซอ มีหลายรุ่น บางคนไม่เข้าใจ บางคนเป็นครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ ไปฟังตอนเย็น ไปเจอช่วงสองแง่สองง่ามพอดี เลยว่าซอนี้ไม่เข้าท่า หยาบ ซอนี้หยาบ  แบบหนุ่มๆ ไปฟังตอนเช้า ก็เบื่อหน่ายมีแต่ธรรมมะ ไม่สนุก อันนี้ที่ไม่เข้าใจกัน ถ้าเราจะไปฟังซอต้องฟังตั้งแต่เช้ายันมืดเลย ไม่ต้องไปไหน ซอทำนองเงี้ยว เนื้อหาสาระเราจะเอาอะไรมาพูดก็ได้

“วันนี้วันดี แต่วันฝนตกใส่ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี
แต่ก็เย็นดี เพราะว่าบ้านเราเป็นแบบนี้ ฝนตกเป็นฤดูกาล 
กลางพรรษาก็ยังมีฝน ก็เมื่อวานนี้ยังแดดออกอยู่เลย
เราไม่คิดไม่ฝัน ฝนตกใส่ไม่ใช่ของแปลก 
ถึงเมื่อวานมีแดดวันนี้ฝนกระหน่ำ ไม่ต้องไปโทษเทวบุตรเทวดา แผ่นดิน มันเป็นของธรรมดาในโลก”


ซอทำนองพม่า เป็นการขอขมาสังฆทานที่ใช้สำหรับถวายพระ 


“สาธุโน ขอโอกาสไหว้เป็นดอกไม้บุปฟาราจารย์ 
จะขอสูมาครัวตาน ทั่วหน้า บัดนี้ตั๋วข้าขอยกยอวาง”


อันนี้เป็นทำนองพม่า จะต้องฟังว่าผู้ชายร้องลงสระอะไร ผู้หญิงจะต้องเอาสระนั้นไปขึ้นต่อ บททำนองนี้จะใช้กันนิดหนึ่ง เช่น ผู้ชายว่า “ขอยกยอวาง”  
ผู้หญิงต้องขึ้นว่า “อุตะมะกาง เป็นอันล้ำญิง เป็นที่พึ่งพิงของสิ่งของจะนา มูลละศรัทธา พุทธาน้อยใหญ่ ก็เป็นปัจจัยของกานา” 
เราจะไม่ทราบเลยว่าฝ่ายหญิงจะลงสระไหน  เราไม่สามารถจะคิดคำซอไว้ ถ้าฝ่ายหญิงลงสระไอ เราก็ต้องเอาสระไอมา แต่เราจะลงสระอะไร ฝ่ายหญิงก็จะไม่รู้ สระอา หรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องร้องต่อไปให้ได้ ซอทำนอง พะลอ เช่น ซอเก็บนกพะลอ มักเรียกว่า พะลอเดินดง เกี่ยวกับต้นไม้ ป่า คนล้านนาสมัยเก่า มักจะเข้าไปหาของป่า เมื่อรู้สึกเหงาก็จะซอพะลอ ทำนองพะลอนี้จะเกี่ยวกับป่าเขา

“ดวงดอกไม้ เบ่งบานสะลอน ฝูงภมร แม่ผึ้งสอดไส้ 
ดอกพิกุลของพี่ต้นใต้ ลมพัดไม้มาสู่บ้านตู รู้แน่ชัดเข้าสู่สองหู 
ว่าสีชมพูถูกเอาไปแล้ว ต้นมันตาย ปลายมันเซิ้ง 
ลำกิ่งเนิ้งไปก้นตวยแนว 
ดอกพิกุลก็คือดอกแก้วไปเป็นของเปิ้นเสียแล้วนะเนอ”

ซอทำนองปั่นฝ้าย ต้นกำเนิดมาจากทางจังหวัดน่าน 

“ตกดึกมาแล้ว ตกดึกมาแล้ว มองดูที่นอน
เหลือแต่มุ้ง ทำไมเบื่อชีวิตการเป็นคน
ทำไมยากจนหัวใจทุกอย่าง อยู่กับบ้านหัวใจมีแต่
ความเศร้าหมองอย่างหนัก เออ เอ่อ เออ เออ”

เป็นการรำพึงรำพรรณถึงเรื่องตัวเอง นำมาแต่งเป็นซอ

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการซอ
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการขับซอ คือ ปี่จุม ปี่จุมประกอบไปด้วย ปี่ก้อยซึ่งใช้ไม้สองปล้องเต็ม ถ้าปล้องยาวก็คือเสียงใหญ่ แต่ถ้าปล้องสั้นก็คือเสียงเล็ก ใช้ไม้เป็นตัวบังคับเสียง อันนี้เค้าเรียกว่าข้อบังคับของการทำปี่ ว่าต้องการเสียงสูงหรือต่ำ คนทำปี่จะเข้าใจ สำหรับคนเป่าปี่ก็ต้องมีความชำนาญ มีความสามารถสูง สามารถนำซอและปี่ไปได้ตลอดรอดฝั่ง คล้ายระนาดเอก ปี่ก้อยเป็นปี่เอก ไม้ใช้เป็นไม้ไผ่รวกที่ออกตามบ้าน ตามเรือกสวนไร่นา ก่อนจะใช้เราต้องไปเลือก เลือกไม่ใหญ่ไม่เล็กจนเกินไป เลือกความหนาความบาง เลือกที่ผิวมีลักษณะแก่ ปี่กลางและปี่เล็ก ทั้งสามปี่นี้ใช้ไม้เล่มเดียวกัน ใช้ไม้เล่มอื่นได้ แต่ความแก่ของไม้ไม่เท่ากัน ควรจะใช้ไม้เล่มเดียวกัน ถ้าไม้ไม่แก่ก็ไม่แก่เหมือนกันถ้าไม้แก่ก็แก่เท่ากัน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าไม้ไผ่มีความแก่ คนสมัยโบราณบอกว่า ไม้ทำปี่ต้องเอาไม้สองน้อง สองน้องก็คือสามปี หนึ่งปีก็คือมีหน่อ มีหน่อสองครั้งถึงจะเอามาทำปี่ได้ ถ้าเราไม่รู้ก็ดูที่ผิวไม้ ตัดที่ปลายไม้จะเป็นสีทองๆ แดงๆ เหลืองๆ จะมีน้ำไหลออกมา เอาลิ้นของเราแตะ ถ้าหวานแสดงว่าไม้แก่แล้ว ไม้ไผ่รวกนี้จะมีน้ำหวานออกมา ต้องสังเกต  แต่เสียงจะแตกต่างกัน ถ้าไม้ที่เราเลือกไม่ได้ขนาดและมาตรฐาน เครื่องดนตรีที่ใช้มีปี่สามอันนี้ เมื่อก่อนมีปี่ใหญ่ แต่ตอนนี้ใช้ซึงเข้ามาแทน ซึงเข้ามาแทนกลอง ฉาบ ฉิ่ง เป็นตัวควบคุมจังหวะ เพราะว่าปี่ไม่มีจังหวะ ต้องมีการขย่มตัวให้จังหวะ บางคนบอกว่าคนเป่าปี่นี่ไม่นิ่งเลยเต้นตลอด จริงๆ ไม่ใช่  คือการหาจังหวะนั่นเอง คือการซอไม่มีจังหวะ อย่างวงตรีมีสะล้อซอซึงในการกำหนดจังหวะ เรื่องซอไม่มีจังหวะบังคับ ต้องอาศัยการโยกตัว เครื่องดนตรีใช้ถึงปัจจุบันนี้มีปี่จุ่ม 3 และซึง 1 ไม่สามารถเอาเครื่องดนตรีชนิดอื่นมาแทนได้เลย

เรียนขับซอ ต้องทำอย่างไร

หากมีพื้นฐานก็จะดี แต่ถ้าไม่มีเลยก็ได้ถ้าอยากเรียน คนที่อยากเรียนซอก็ต้องเคยได้ยินมาก่อน ถ้าไม่เคยได้ยินมาก่อน แสดงว่าไม่รู้เรื่องอะไรเลยคงยาก หากเคยฟังและชอบก็สามารถเรียนได้ มาเรียนแบบไหน แบบเด็กๆ ป.1 ป.2 อ่านออกเขียนได้ เขียนเนื้อให้ก่อนเอาไปท่อง ถ้าได้เนื้อแล้วค่อยสอนทำนอง สอนการเอื้อน การเอื้อนเค้าเรียกว่า “ภาษาซอ” ถ้าคนไม่รู้จักภาษาพื้นเมือง แล้วมาซอจะออกเสียงได้ไม่สนิทพอ เช่น ไผ จะออกเสียงเป็น ไข “เป็นไขคนใด” จะต้องออกเสียง ไผ จะต้องออกเสียงภาษาพื้นเมืองได้เป็นอย่างดี เช่นคำว่า สะลิดปิดป้าง (แปลว่าดัดจริต) สะโวกสะวาก (แปลว่าโวกเหวกโวยวาย) โก่งโกะโก่งโกย (แปลว่าลุกนั่งลำบาก) เพราะต้องใช้คำพวกนี้ ถ้าท่องจำได้ สามารถซอได้เป็นชั่วโมง โวหารปฏิภาณมันจะเกิดขึ้นมาเอง จะคำพูดคำซอเก่าๆ เหล่านี้ มันจะเกิดขึ้นมาเอง หรือค่อยๆ ฝึกฝนตัวเอง เช่น เห็นใบไม้ นกบิน ก็ท่องก็ร้องซอไป

การสืบสานและอนุรักษ์

พ่อครูอยากจะสืบสานการขับซอไว้ไม่ให้สูญหาย เพราะว่าคนที่แต่งทำนองซอไว้ แต่งได้อย่างไรและคนที่แต่งทำนองปี่เพื่อนำมาใช้ประกอบการขับร้องซอ แต่งมาได้อย่างไร ไม่สั้นไม่ยาว จะลงจังหวะพอดี เป็นเรื่องอัศจรรย์มาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซอมีมานานหลายสิบหลายร้อยปีมาจนถึงปัจจุบัน ยังสามารถมาถึงได้ นับแต่นี้ไปก็อยากให้ลูกๆ หลานๆ มาสนใจ ไม่ว่าดนตรีภาคไหนทุกภาคทุกแขนง ไม่ว่าอีสาน ภาคใต้ ภาคกลาง จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อนุรักษ์ไว้ ของพื้นบ้านเมืองเหนือก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเหนืออย่างเดียว คนภาคไหนก็ได้ที่มีใจรักใจชอบหรือคนต่างประเทศ จีน ญี่ปุ่น อยากให้เข้ามาศึกษาและอนุรักษ์ไว้ 
การไม่มีสมาธิก็สามารถสร้างสมาธิให้เราได้ เป็นคนอารมณ์ร้อนก็ทำให้เรากลายเป็นคนอารมณ์เย็นได้ มีความคิดหนักแน่น มีเหตุผลมากขึ้น

“วันนี้ วันดี สีใสสว่าง
วันที่พระเจ้าช้างจะขึ้นนั่งแท่นสีเหลืองทอง
วันนี้สีมะโนเนืองวันรุ่งเรือง การงานตรงนี้ถึงจะเป็นงานวัดงานวา หมู่ศรัทธาทั้งน้องทั้งพี่ การทำบุญทำทานให้สูญหาย 
ให้มาร่วมบุญกันทุกคน ถ้าไม่มีงานวัด 
เราคงไม่ได้เจอหน้ากัน ถ้าไม่มีเหตุธุระคงไม่ได้มาเจอกัน วันนี้ดีใจที่มีงาน ช่วยเหลือกันระหว่างชาวบ้าน 
ไม่มีงานไม่ธุระใดก็จะไม่เจอกันเน้อออ”


สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รหัสไปรณีย์ 50300
โทรศัพท์ 0-5388-5903 โทรสาร 0-5388-5900
เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 08.30 – 15.30 น.


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2559, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่