ข้อมูลพื้นฐาน


ชื่อ : พ่อครูเฉลิมเวศน์ อูปธรรม

ทักษะด้าน : ด้านซอพื้นเมือง

สาขา : สาขาศิลปะการแสดง

ประจำปีพุทธศักราช : 2555

หมายเลขโทรศัพท์ : 081-950-6906

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 48/2 ถนนทิพย์เนตร ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติ :

นายเฉลิมเวศน์ อูปธรรม เกิดวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 ณ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ บิดาชื่อนายต๋า อูปธรรม มารดาชื่อนางบัวคำ อูปธรรม เป็นบุตรชายคนที่ 6ในจำนวนพี่น้อง 7 คน นายเฉลิมเวศน์ อูปธรรม สมรสกับนางสุภิญญ์ อูปธรรม(คำลือสาย) มีธิดา 2 คน



ประวัติการศึกษา


สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

โรงเรียนวัดพระเจ้าทองทิพย์  อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 7

สอบเทียบกระทรวงศึกษาธิการ

สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามงกุฏราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ กรุงเทพฯ

สำเร็จการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

สำเร็จการศึกษาระดับนักธรรม ชั้นเอก

วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำป่าซาง จังหวัดลำพูน

สำเร็จการศึกษาระดับเปรียญธรรม 3 ประโยค

วัดโพธินิมิต เขตธนบุรี กรุงเทพฯ

สำเร็จการศึกษาระดับชั้นปริญญาโท

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ประวัติการทำงาน


ในการเผยแพร่การขับขานซอของนายเฉลิมเวศน์  อูปธรรม (สีหมื่น เมืองยอง)  ในปัจจุบัน มี 2 ลักษณะคือ

  1. เผยแพร่โดยได้รับการว่าจ้างไปแสดงในสถานที่ต่างๆ ในภาคเหนือ
  2. เผยแพร่โดยได้รับเชิญเป็นวิทยากรตามสถาบันการศึกษาต่างๆ

ซึ่งการเผยแพร่ทั้ง 2 ลักษณะนี้ ส่วนมากไม่ได้บันทึกเป็นซีดีหรือวีซีดี แต่นายเฉลิมเวศน์ ได้อนุรักษ์การขับขานจ๊อย ซอ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เยาวชนและผู้สนใจทุกปี โดยมีเป้าหมายไว้อย่างน้อยปีละ 2 คน ชาย 1 หญิง 1 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งยังได้ประพันธ์บทซอทุกปีอย่างน้อยปีละ 1 เรื่อง โดยบันทึกเป็นซีดีและวีซีดี นอกจากนี้ยังได้ขับขานจ๊อย ซอ ออกเผยแพร่ทางสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการประพันธ์ซอในทำนองต่าง ๆ กับเยาวชนและผู้สนใจอยู่เสมอ


การเผยแพร่ผลงาน


นายเฉลิมเวศน์  อูปธรรม หรือที่รู้จักกันในวงการซอพื้นเมืองว่า สีหมื่น เมืองยอง เป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านการขับขานจ๊อย ซอ การประพันธ์บทซอทำนองต่าง ๆ ประพันธ์เพลง และโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน โดยมีผลงานต่าง ๆ เผยแพร่แก่สาธารณชน ดังนี้

  1. ซอยาเสพติด
  2. ซอแซววทีมอกม่วน
  3. ซอเจียงใหม่เมืองงาม
  4. ซอสิบสองปี๋เปิ้ง
  5. ซออุ๊ยสูบมูลี
  6. ซอช่างซอเซาะเมีย
  7. ซอเถรประวัติพระสุนทรปริยัติกรม
  8. ซอเถรประวัติพระธรรมสิทธาจารย์
  9. ซอเถรประวัติพระอภัยสารทะ
  10. ซอประวัติวัดปันเส่า
  11. ซอประวัติวัดป่าแดงมหาวิหาร
  12. ซอเถรประวัติวัดร้องวัวแดง
  13. ซอพระประจำปีเกิด
  14. ซอโลกธรรมแปด
  15. ซอโต้วาทีมอกม่วน
  16. ซอเถรประวัติพระเดชพระคุณพระพรหรมเมธี
  17. เพลงคำเมืองชุด สีหมื่นลื่นไมค์
  18. ซอละครชีวิต
  19. ซออะไรเอ่ย
  20. ซอประวัติพ่อหลวงพระครูธรรมโกศล

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ



ชีวิตปัจจุบัน


นายเฉลิมเวศน์  อูปธรรม ยังคงสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการซอให้กับเยาวชนให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ พร้อมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพเสริม อันเป็นการช่วยเหลือครอบครัว โดยตั้งปณิธานว่า จะถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เยาวชนที่สนใจจ๊อยซอ อย่างน้อยปีละ 2 คน ชาย 1 หญิง 1


บทสัมภาษณ์


แนะนำตัว

พ่อครูเฉลิมเวศน์ อูปธรรม ชื่อในศิลปินช่างซอคือ “สีหมื่น เมืองยอง” เกิดที่บ้านพระเจ้าตองทิป ตำบลบ้านกลาง อำเภอ  สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ พ่อครูได้รับองค์ความรู้เรื่องซอมาจากสื่อต่างๆ เช่น วิทยุ เพราะในสมัยก่อนนั้นไม่ค่อยมีสื่อ มีสื่อก็คือสื่อทางซอเท่านั้น อิทธิพลที่ทำพ่อครูอยากเป็นช่างซอคือ พ่อครูอยากจะอวดไหวพริบ และศักยภาพด้านต่างๆ ของตัวเอง เช่น เสียง ไหวพริบปฏิภาณและบุคลิก ซึ่งหากนำไปเสนอในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่การจ๊อยการซอ ก็เหมือนกับว่าเราไม่ได้โชว์บุคลิกของเราอย่างเต็มที่ จึงตัดสินใจมาเป็นช่างซอเพราะคิดว่าน่าจะเข้ากับบุคลิกของตนเองที่สุด

แรงบันดาลใจในการเรียนซอ

พ่อครูใช้วิธี “ครูพักลักจำ” ในการเรียนซอ เพราะว่าสมัยนั้นก็ไม่รู้จะไปเรียนกับใคร ได้ฟังครูแต่ละคนจากสถานีวิทยุต่างๆ อยู่แล้ว และช่างซอก็มีอยู่มาก แต่คนที่มีอิทธิพลต่อพ่อครูที่สุดก็คือ  พ่อครูแก้วตาไหล เพราะได้ฟังเสียงมาตั้งแต่เด็กๆ และมีอยู่ช่วงหนึ่งที่พ่อครูได้ไปเรียนบาลีที่จังหวัดลำพูน วัดพระพุทธบาทตากผ้า   พ่อครูจึงได้นำเอาเทปที่อัดเรียนบาลีเอาไปอัดเสียงพ่อครูแก้วตาไหลซึ่งออกทางวิทยุ สมัยนั้นจะเป็นซอ อื่อ ที่เป็นซอที่พ่อครูซอเป็น  บทแรก หลังจากนั้นพ่อครูได้สั่งสมความสามารถในการซอ โดยดูจากตัวอย่างของพ่อครูแม่ครูรุ่นก่อนๆ ซึ่งทุกคนล้วนแต่เป็นอาจารย์ทั้งหมด พอได้ทำงานเป็นข้าราชการ พ่อครูเลยไปขอตั้งขันครูกับ  แม่ครูบัวตอง เมืองพร้าว และแม่ครูท่านอื่นๆ พอตั้งขันครูกับแม่ครูเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมอีกหลายอย่างจากแม่ครูหลายๆคนอย่างใกล้ชิด เช่น แม่ครูบัวซอน เมืองพร้าว และแม่ครูท่านอื่นๆ พอเราเรียนเหมือนกับว่าเป็นการเรียนรู้ที่ไม่จบสิ้น พอได้เรียนแล้วก็เหมือนกับว่ามันขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง จึงได้ไตร่ตรองดูว่าเรามีอะไรที่บกพร่อง เพราะว่าครูอาจารย์เคยได้บอกกับเราไว้ตั้งแต่เด็กๆ ว่าคนที่จะเรียนซอได้ ต้องมีคุณสมบัติ 4 อย่าง คือ

1.    ต้องไม่เต็มบาท ในที่นี้ก็คือ หากไม่รู้อะไรก็ต้องไปเรียนรู้ให้หมด 
2.    ต้องเป็นปราชญ์ภาษา ต้องเรียนรู้ภาษาอย่างถ่องแท้ในท้องถิ่นนั้นๆ 
3.    ชั้นเชิงในลีลา ส่วนชั้นเชิงลีลานั้นพ่อครูได้ฝึกซ้อมบุคลิกทั้งหน้ากระจก ทั้งในคนหมู่มาก เพื่อสังเกตดูปฏิกิริยาตอบรับของคนดู
4.    เรียกไก่มากินข้าว เป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่างซอนั้น ค่อนข้างที่จะใช้เสียงเบ่ง ถ้าเราไม่มีเสียงเบ่ง เขาก็บอกว่าเราเป็นช่างซอไม่ได้ เช่น ไก่อยู่ที่กลางทุ่งนา แล้วเราจะเรียกไก่มาให้กินข้าวให้ได้ แล้วเราควรเรียกไก่อย่างไร ถ้าเราเรียกว่า กูกก กูก กูก (ใช้เสียงต่ำ) ไก่ไม่มาแน่ เราต้องเรียกว่ากู๊กกก กู๊กก กู๊ก กู๊ก (ใช้เสียงสูงขึ้นมา) ไก่ถึงจะมา พอเราเรียกไก่มาได้แสดงว่าเราตั้งเชียงใหม่ คือทำนองแรกที่เรียนได้ และทุกทำนองจะเป็นทำนองที่ใช้เสียงสูงหมดเลย

ทำนองซอที่เชี่ยวชาญ 

แนวในการขับขานแรกๆ ที่จะมาซอ พ่อครูระบุว่าในช่วงแรกพ่อครูเป็นศิษย์ของพ่อแก้วตาไหล เพราะว่าพ่อแก้ว  ตาไหลนั้นถือเป็นคัมภีร์ของช่างซอ คือคนสายใต้จะเรียนของพ่อแก้วตาไหลหมด พ่อแก้วตาไหลจะมีบุคลิกที่ไม่เหมือนคนทั่วไป คำว่าตาไหล มาจากก็อากัปกริยาขณะซอของพ่อแก้วตาไหลที่มักจะสอดส่ายสายตาไปพร้อมๆ กับการขับซอและมีลีลาการขับซอที่ไม่อยู่นิ่ง สามารถชักจูงคนดูได้ตลอด พ่อครู   เฉลิมเวศน์จึงยึดแนวทางของพ่อครูครูแก้วตาไหลเป็นแบบอย่าง สำหรับการขับขานนั้น พ่อครูไม่ได้ยึดแนวทางตามใครคนใดคนหนึ่งทั้งหมด แต่ปรับวิธีการให้เหมาะสมกับตนเอง เนื่องจากได้รับความรู้เรื่องการขับขานจากพ่อครูแม่ครูหลายๆคน แต่จะยืดแนวทางของพ่อแก้วตาไหลประมาณ 20%
 
พ่อครูเฉลิมเวศน์ได้ยกตัวอย่างบทซอของพ่อแก้วตาไหล โดยการสาธิตการซอทำนอง อื่อ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของพ่อแก้วตาไหล ให้ฟังดังนี้ 
“หลอนเปิ้นอู้ตางธรรม อีปู่บ่ฟังอีปู่บ่ใกล้
หลอนเปิ้นอู้ฮายโลจนไก่ อีปู๋ก็ไปตึงวัน
เปิ้นอู้เข้าวาเข้าวัด อีปู่ก็ซัดหลังตำ
หลอนเปิ้นอู้ตางศีลตางธรรม ปู๋อยู่ตางหลังบืนปาก”

โดยพ่อครูเฉลิมเวศน์ระบุว่า จุดเด่นของพ่อแก้วตาไหล คือซอท่อนแรกจะไม่ลงเสียงต่ำ จะลงเสียงสูง 

ลักษณะและจุดเด่นของซอ
ถ้าพูดถึงคำซอล้านนา มันก็มีหลากหลาย ลักษณะมันก็ไม่ได้ด้อยกว่ากัน มีความเด่นเท่าๆ กัน เช่น ทำนองตั้งเชียงใหม่  จะปุ ละม้าย เพราะว่าเมื่อไปซอที่ไหน หัวใจของงานนั่นก็คือ ตั้งเชียงใหม่ จะปุ ละม้าย คนฟังเขาจะสังเกตเห็นว่าถ้าช่างซอคนไหนซอตั้งเชียงใหม่สนุก คนก็จะฟังกันนาน แต่ปัจจุบันต้องสนุกทั้งต้น ทั้งกลาง และปลาย แต่คนโบราณเขาฟังซอกัน เขาจะฟังตั้งเชียงใหม่ สาเหตุที่เขาฟังตั้งเชียงใหม่เป็นบทแรกแล้วประทับใจนั้น เพราะว่าซอตั้งเชียงใหม่นั้น มันเป็นซอที่จะต้องไม่ซ้ำกัน จะต้องด้นสดและคนที่จะด้นสดในทำนองตั้งเชียงใหม่นั้น ต้องเป็นช่างซอที่มีองค์ความรู้ มีประสบการณ์ในการซอหลายปี เพราะแผนผังและฉันทลักษณ์ของตั้งเชียงใหม่ค่อนข้างจะซับซ้อน มีหลากหลายวรรณยุกต์ ซอตั้งเชียงใหม่ถือเป็นทำนองปราบเซียน ถ้าหากได้ฟังซอและสังเกตเห็นว่าได้ซอ   ตั้งเชียงใหม่เป็นบทใหม่ ก็จะทำให้ทราบถึงความสามารถ ปฏิภาณ และความชำนาญของพ่อครูแม่ครูแต่ละคน 

หลักเกณฑ์และวิธีการขับซอ

หลักเกณฑ์ของ  บทซอแต่ละทำนองคือ การที่จะหยิบยกมาใช้สอดแทรกวรรณยุกต์มันก็จะไม่เหมือนกัน ลักษณะที่เราเห็นได้อย่างชัดเจน นั้นก็คือซอทำนอง อื่อ สมมติว่าช่างซอผู้ชายลงคำใดแล้ว ผู้หญิงก็จะต้องรับคำนั้นให้คล้องกันเป็นลูกโซ่ไปเลย อันนี้ก็เป็นคุณสมบัติเด่นของการขับขานซอเหมือนกัน แล้วแต่ละทำนองนั้นก็มีหลักเกณฑ์ของเขาอยู่ในตัว ซึ่งถ้าเราไปศึกษาจริงๆ เป็นองค์ความรู้ที่ท้าทายคนเรียน ใครที่มีความรู้น้อย ถ้าไม่ไขว่คว้าเอาความรู้มาใส่ตัวเองเยอะๆ การเรียนซอมันก็จะตัน ตันในที่นี้ก็คือ ถ้าเราไม่ไปเก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์ที่อื่นมา คำที่เราจะเอามาขับขานมันจะไม่พรั่งพลู มันจะไม่หลากหลาย มันจะวนเวียนอยู่ในอ่างในกะละมังของเรา แต่คนที่มีประสบการณ์คนที่เก็บเกี่ยวความรู้อยู่ตลอดเวลานั้น การซอของเขาก็จะไหลลื่นไปตามสภาวการณ์จะเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการซอ
เครื่องดนตรีที่ใช้ในการขับขาน ในสมัยโบราณจะใช้ปี่ 5 จุม เขาเรียกว่า ปี่จุม 5 แล้วก็ปัจจุบันนี้เขาตัดเหลือแค่ 4 หรือที่เขาเรียกว่าปี่จุ่ม 4 จะมีปี่เล็ก ปี่กลาง ปี่ก้อย และซึง ซึ่งพ่อครูเฉลิมเวศน์คิด ปี่จุม 5 ก็สนุกและไพเราะมากกว่า เพราะว่ามีเสียงปี่แม่ ปี่เก๊า ปี่ใหญ่ ปี่แม่ ปี่เก๊าเสียงมันจะ ต๊ด ต๊ด ต๊ด ตลอดเวลา 

 


อแต่ละงานจะไม่เหมือนกัน เช่นไปซอปอยเข้าสังข์ เขาจะมีซอเครือของเขาอยู่ สมัยครูบาอาจารย์ เรายังโวหารไม่ได้เขาก็จะให้เราซอเครือ ซอปับของเขาก่อน อย่างน้อยผู้ชายก็ต้องได้ ผู้หญิงก็ต้องได้ให้มันเข้ากัน คำซอเขาเรียกว่าล็อคคำซอเข้าหากัน เขาเรียกว่าซอปับ แล้วซองานต่างๆ มันก็จะมีซอครูของเขา  เราอาจจะใช้ซอนั้นหนึ่ง ชั่วโมงแรก พอชั่วโมงที่สองที่สามมันก็ลื่นไหลไปตามสถานการณ์ของงาน แล้วแต่รูปแบบของงาน ส่วนใหญ่จะเป็นงานมงคล

ารอนุรักษ์คำจ๊อยคำซอ   ของดีๆ ในล้านนา พ่อครู    เฉลิมเวศน์ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 
1. คนที่มีองค์ความรู้ ต้องพยายามถ่ายทอดให้คนที่ต้องการจะรู้ในสิ่งต่างๆ อย่างถ่องแท้ 
2. คนที่ได้รับการถ่ายทอด น้องๆ คนไหนที่จะมาเรียนทาง  จ๊อยทางซอก็ขอให้มีใจรักอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ จะมาเรียนแบบผิวเผิน หรือฉาบฉวยไม่ได้  
3. คนสืบสาน ซึ่งคนอนุรักษ์คนที่สืบสานหากถามว่า
มาจากไหน ก็มาจากครอบครัว สถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ 
ทั้งหมดสามส่วนล้วนแต่เชื่อมโยงกันซึ่งต้องเอื้อกันทั้งหมดเลย ทั้งคนถ่ายทอดคนที่ได้รับการถ่ายทอดและองค์กร สถาบันการศึกษาต่างๆ ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบกพร่องไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ การอนุรักษ์จะเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าคนที่มาเรียนซอคนที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ของซอมันก็ต้องได้รับการเผยแผ่ ถ้าหากเรามีองค์ความรู้แล้วแต่ไม่มีแหล่งในการถ่ายทอดหรือไม่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษา ครอบครัวและหน่วยงานต่างๆ ประสบการณ์ ความคล่องแคล่วต่างๆ มันก็ไม่เกิดขึ้น แล้วองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดหรือถ่ายทอดให้คนอื่นก็จะไม่มีใครเห็น แต่ถ้าสิ่งที่เราได้ถ่ายทอดหรือรับการถ่ายทอด เช่นว่าเราไปงานต่างๆ เขาก็จะมีของสมนาคุณให้เราหรือคนที่ได้ถ่ายทอดความรู้ก็จะมีกำลังใจเหมือนกับว่าที่เราถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์เรานั้นได้เติบโตและงอกงามเหมือนกับที่เราปลูกผักอะไรสักอย่างหนึ่งที่ปลูกแล้วมันเจริญเติบโตขึ้นมานั่นคือความภาคภูมิใจของครูอาจารย์    ก็เกิดขึ้นครับ 


 


สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รหัสไปรณีย์ 50300
โทรศัพท์ 0-5388-5903 โทรสาร 0-5388-5900
เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 08.30 – 15.30 น.


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2559, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่