ข้อมูลพื้นฐาน


ชื่อ : แม่ครูแจ่มจันทร์ แสนสิงห์

ทักษะด้าน : ด้านซอพื้นเมือง

สาขา : สาขาศิลปะการแสดง

ประจำปีพุทธศักราช : 2560

หมายเลขโทรศัพท์ :

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 51/1 หมู่ที่ 6 ข่วงเปาใต้ ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50240

ประวัติ :

นางแจ่มจันทร์ แสนสิงห์ ชื่อที่ใช้ในการแสดง “แจ่มจันทร์ ข่วงเปาใต้” เกิดที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ นางแจ่มจันทร์ แสนสิงห์ สมรสกับนายนิคม แสนสิงห์ มีบุตร 1 คน ธิดา 1 คน



ประวัติการศึกษา


ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดปราสาท จังหวัดเชียงใหม่


ประวัติการทำงาน


หลังจากเรียนจนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 นางแจ่มจันทร์ได้ออกมาช่วยพ่อแม่ทำสวน ทำนา ทำให้ไม่มีโอกาสเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษา เนื่องจากสมัยนั้นสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาอยู่ไกลมาก การเดินทางไม่สะดวก เมื่อนางแจ่มจันทร์ อายุได้ 14 ปี ซึ่งขณะนั้นที่วัดมีงานประจำปี ทางวัดได้จัดให้มีการแสดงซอ นางแจ่มจันทร์ มีโอกาสได้ไปดูการแสดงและฟังซอ รู้สึกชอบ จึงอยากเป็นศิลปินช่างซอ ได้มาขอพ่อและแม่ ซึ่งพ่อและแม่ของนางแจ่มจันทร์ได้ให้การสนับสนุนจึงพาไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของแม่ครูบัวผัด สุดแสงตา (ชื่อในการแสดง “บัวผัด ฉัตรทอง”) ที่บ้านแม่อาว ตำบลยางคราม อำเภอดอยหล่อจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแม่ครูบัวผัดเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงด้านการแสดงละครซอ ซึ่งรวมทั้งมีการเผยแพร่ละครซอเป็นประจำออกอากาศตามสถานีวิทยุนางแจ่มจันทร์ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนการขับซอจากแม่ครูบัวผัดอย่างเต็มที่ จึงทำให้สามารถขับซอได้หลายทำนองและหัดขับซอเข้ากับเครื่องดนตรีปี่จุม ได้เป็นอย่างดี เมื่อไม่เข้าใจก็จะถามแม่ครูทันที ดังนั้นเมื่อเรียนได้ 2 ปี ทำให้นางแจ่มจันทร์ สามารถออกรับงานแสดงได้เป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 16 ปี ที่อำเภอแม่สอดจังหวัดตาก โดยมีพ่อครูศรีมา สันโป่ง เป็นคู่ถ้อง จากนั้นนางแจ่มจันทร์ ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยการร่วมงานกับศิลปินพ่อครูแม่ครูและด้วยความที่นางแจ่มจันทร์ เป็นผู้ที่มีความจำดี จึงได้นำเอาประสบการณ์ การทำงานร่วมกับพ่อครูแม่ครูมาปรับการแสดงของตนได้เป็นอย่างดี จนทำให้นางแจ่มจันทร์ สามารถขับซอแบบพรรณนาโวหารได้อย่างคล่องแคล่ว และได้รับงานตั้งแต่บัดนั้น จนถึงปัจจุบัน ในการขึ้นแสดงบนเวทีแต่ละครั้ง นางแจ่มจันทร์จะแสดงอย่างสุดความสามารถ โดยถือว่า การแสดงของตนจะต้องคุ้มค่าเงินทุกบาททุกสตางค์ของเจ้าภาพจึงทำให้นางแจ่มจันทร์ เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ครองใจผู้ชมได้อย่างแนบแน่นจวบจนปัจจุบัน อีกทั้งนางแจ่มจันทร์ยังมีความสามารถในการแต่งบทซอได้เป็นอย่างดี ความสามารถเช่นนี้ นับว่าหาได้ยากในกลุ่มศิลปินช่างซอในปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันจะมีบทซอสำเร็จรูปให้ช่างซอได้ท่อง แล้วออกแสดง โดยผู้ที่จะสามารถแต่งบทซอได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีปฏิภาณไหวพริบเป็นอย่างดี
 


การเผยแพร่ผลงาน


นางแจ่มจันทร์ แสนสิงห์ เผยแพร่ผลงานด้วยการออกแสดงทั้งในงานประเพณีต่างๆ ของวัดและชุมชน รวมถึงการเผยแพร่ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ และการเป็นวิทยากรให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการบันทึกวีซีดี ดังนี้

  1. ชุดเกี้ยวตลก คู่กับ สิงห์คำ ชัยศรี
  2. ชุดซอบู้ คู่กับ สิงห์คำ ชัยศรี
  3. ชุดซอซิ่ง คู่กับ สิงห์คำ ชัยศรี
  4. ชุดมวยคู่เอก คู่กับ สิงห์คำ ชัยศรี
  5. ชุดตำนานส้มป่อย คู่กับ สิงห์คำ ชัยศรี
  6. ชุดดำหัวปีใหม่ คู่กับ สิงห์คำ ชัยศรี
  7. ชุดปู่ลืมศีล คู่กับ สิงห์คำ ชัยศรี
  8. ชุดพญาอินทร์ตวายโลก คู่กับ สิงห์คำ ชัยศรี

นอกจากนี้นางแจ่มจันทร์ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการ ขับซอให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ โดยฝึก ให้ผู้เรียนได้รู้จักและเรียนรูตั้งแต่พิธีการขึ้นขันตั้ง เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้ถึงคำว่า “ครูซอ” ระลึกในบุญคุณของครู แนะนำทำนอง โดยซอให้เป็นตัวอย่าง รวมถึงให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การหายใจที่ถูกต้อง
 


รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ


พ.ศ.2553 แม่ดีเด่น จากโรงเรียนจอมทอง
พ.ศ.2559 แม่แห่งชาติ
พ.ศ.2560 รางวัลเพชรราชภัฏ-เพชรล้านนา


ชีวิตปัจจุบัน


ปัจจุบันแม่ครูแจ่มจันทร์ แสนสิงห์ ยังคงเผยแพร่  องค์ความรู้การขับซออย่างต่อเนื่อง และช่วยงานสังคมด้วยความเต็มใจโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพราะเห็นว่าหากสังคมสงบสุข ประชาชนก็จะมีความสุข อีกทั้งเป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
 


บทสัมภาษณ์


 แนะนำตัว
แม่ครูแจ่มจันทร์ แสนสิงห์ เพชรราชภัฏปี พ.ศ.2560 สาขาการแสดงขับซอ แต่เดิมเป็นชาวอำเภอสันป่าตอง ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านข่วงเปาใต้ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ แม่ครูแจ่มจันทร์เริ่มฝึกหัดขับซอมาตั้งแต่อายุประมาณ 13-14 ปี โดยมีแม่ครู บัวผัด สุดแสงตา หรือชื่อที่ใช้ในการแสดงคือ “บัวผัด ฉัตรทอง” เป็นผู้ฝึกสอน แม่ครูแจ่มจันทร์ใช้เวลาฝึกฝนเป็นเวลา 2 ปี จึงเริ่มรับงานแสดง โดยการแสดงครั้งแรกของแม่ครูแจ่มจันทร์นั้นได้เดินทางไปแสดงที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  

ทำนองซอที่เชี่ยวชาญ

แม่ครูแจ่มจันทร์ มีความสามารถในการซอได้ทุกทำนองซอมีหลายทำนอง เริ่มแรกต้องหัดซอตั้งเจียงใหม่ก่อน ตั้งเจียงใหม่จะเป็นการซอคู่ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ต่อจากนั้นเป็นทำนองจะปุแล้วก็ละม้าย ซึ่งก็คือ “จิ่มแลนอ” แต่ถ้าถามถึงทำนอง   ที่ชอบ ซอได้ง่ายๆ จะเป็นทำนองเสเลเมา คือ ทำนองเพลงเงี้ยว จุดเด่น คือ การไว้เสียง การเอื้อนเสียง จะซอในช่วงซอขอทิปส์ (Tips) จากเจ้าภาพ ซอสรรเสริญเยินยอเจ้าภาพ บางครั้งใช้ซอเวลาจะลางาน (ช่วงท้ายของงาน) เหมือนมีความอาลัยอาวรณ์กัน การซอทำนองนี้ทำให้ดึงดูดใจ

ตัวอย่างบทซอเสเลเมา

สวัสดีเจ้าปี้น้องตังหลาย ตึงญิงตึงจาย ตึงใหญ่ตึงน้อย...ดนตรี
...ข้าเจ้าได้เป็นจ้างซอจ้างจ้อย ตั้งเมื่อน้อยๆ
เมื่ออายุสิบสาม สมัยตะก่อนก็ไปซอเข้าปี่
ตึงน้องตึงปี้เปิ้นอวดเฮางาม เฮ้ย เจ้าท่านงาม
จ้างซอนั่งผ๋ามเป็นจ้างซอหัดใหม่...ดนตรี
...เจ้าเป็นจ้างซอตะก่อนอยู่สันป่าตอง
บะเดวเจ้าล่องมาอยู่ข่วงเปาใต้
หากินตางซอตั้งน้อยถึงใหญ่
ขอยกมือไหว้ท่านผู้มีเกียรติ...ดนตรี
แถมกำ...ข้าเจ้าชื่อว่าอี้น้องแจ่มจันทร์
เป็นคนบะงาม เป็นคนบะเด่น...

คำแปล
สวัสดีค่ะ พี่น้องทั้งหลาย ทั้งหญิง ทั้งชาย
ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก...ดนตรี
...ดิฉันเป็นช่างซอมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่อายุสิบสาม
สมัยก่อนเมื่อไปแสดงซอ บรรดาผู้ฟังทั้งหลายชมว่า
ตัวช่างซอนั้นเป็นคนสวย ช่างซอที่แสดงในวันนี้
เป็นช่างซอมือใหม่...ดนตรี
…ดิฉันเป็นช่างซอ ในอดีตอาศัยอยู่ที่สันป่าตอง
ตอนนี้ย้ายมาอยู่ข่วงเป่าใต้
ทำมาหากินมาเป็นช่างซอมาตั้งแต่เด็กจนโต
ขอยกมือไหว้ท่านผู้มีเกียรติ...
ดนตรี...ดิฉันชื่อว่าน้องแจ่มจันทร์ เป็นคนไม่สวย ไม่เด่น...
เป็นการซอแบบถ่อมตน

หลักเกณฑ์และวิธีการขับซอ
การขับซอขึ้นอยู่กับว่าเป็นงานอะไร เช่นว่า งานขึ้นบ้านใหม่ จะเริ่มต้นตั้งแต่ ซอตั้งเจียงใหม่ ซึ่งเป็นซอคู่ ช่างซอผู้ชายก็จะขึ้นต้นด้วยคำว่า หลอน... ช่างซอผู้หญิงก็จะตั้งต้นด้วยคำว่า นาย... อันนี้คือเริ่มต้นซอ จากนั้นก็จะซอเกี่ยวกับเรื่องบ้านใหม่ ซอฮำเจ้าภาพ (ซอสรรเสริญเยินยอเจ้าภาพ) 
โอกาสในการซอส่วนมากทั่วไป เน้นงานมงคล เช่น      งานขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญเปิดป้าย งานบวช งานแต่งงาน งานฉลอง

คุณสมบัติของผู้เรียนซอ
การเรียนซอต้องมีใจรัก มีพรสวรรค์และมีอารมณ์ร่าเริง ชอบร้องรำทำเพลง ถ้าเป็นคนเงียบๆ นิ่งๆ ไม่ค่อยพูดจากับใครก็จะเรียนยากหน่อย การเรียนซอนี้มันต้องหมั่นพูด หมั่นท่อง เน้นภาษาพื้นเมือง ถ้าคนจะเรียนซอ เด็กจะเรียนซอ ต้องพูดภาษาเหนือจะทำให้ซอได้ง่าย เพราะว่า คำซอภาษาเหนือ จะมีไม้จัตวา ไม้ตรีเยอะ หากเราพูดภาษาเหนือไม่คล่อง เราจะไม่ทราบความหมายที่ซอออกไป
อยากจะส่งเสริมให้เด็กรุ่นหลัง มาเรียนจ้อย เรียนซอกันให้มาก เวลาแม่ครูไปบ้านไหน แม่ครูจะชักชวน เชิญชวนเด็กที่มีความสนใจ

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการขับซอ

เครื่องดนตรีหลักคือปี่จุม ประกอบด้วย ปี่ก้อยเป็นปี่นำ แล้วก็ปี่กลาง จากปี่กลางก็เป็น  ปี่เล็ก เมื่อก่อนจะมีปี่แม่อีกอันนึง แต่สมัยปัจจุบันนิยมเอาซึงมาแทนปี่แม่ออก 


 


สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รหัสไปรณีย์ 50300
โทรศัพท์ 0-5388-5903 โทรสาร 0-5388-5900
เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 08.30 – 15.30 น.


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2559, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่