ข้อมูลพื้นฐาน


ชื่อ : แม่ครูผ่องศรี โสภา

ทักษะด้าน : ด้านซอพื้นเมือง

สาขา : สาขาศิลปะการแสดง

ประจำปีพุทธศักราช : 2552

หมายเลขโทรศัพท์ :

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 32/4 ถนนประชาสัมพันธ์ ซอย 1 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100

ประวัติ :

นางผ่องศรี โสภา เกิดวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย บิดาชื่อ นายตุ้ย โสภา มารดาชื่อ นางหล้า โสภา เป็นธิดาคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 7 คน



ประวัติการศึกษา


สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านสันต้นผึ้ง ตำบลม่วงคำ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย


ประวัติการทำงาน


ในวัยเด็ก นางผ่องศรี โสภา ชื่นชอบการแสดงซอและการขับร้องเป็นอย่างยิ่ง หลังจากจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 นางผ่องศรีไม่ได้เรียนหนังสือต่อ เนื่องจากทางบ้านมีฐานะยากจน ต้องช่วยพ่อแม่เลี้ยงวัว ควาย อยู่กับบ้าน จนเมื่อนางผ่องศรี มีอายุได้ 14 ปี ได้ยินการซอพื้นเมืองทางวิทยุและมีคนนำหีบเพลงมาเปิดตามบ้านนอก จึงเกิดความคิดอยากเป็นช่างซอ ประกอบกับตัวเองเป็นคนเสียงดี  จึงได้รบเร้าพ่อแม่ให้พาไปเรียนการขับซอ พ่อ แม่ จึงพานางผ่องศรีไปฝากเป็นลูกศิษย์กับพ่อครูคำมูล  บ้านสันต้นผึ้ง  จากนั้นมาเรียนกับแม่ครูแสงเอ้ย เวียงป่าเป้า เมื่อสามารถขับซอได้แล้ว นางผ่องศรีจึงออกแสดงในงานต่างๆและมีโอกาสพบกับพ่อครูบุญชุม เมืองน่าน จึงได้ขอเป็นลูกศิษย์ เพื่อศึกษาการซอล่องน่าน และมีโอกาสได้พบกับแม่ครูจันทร์สม สายธารา และพ่อครูสองเมือง ร่ำเปิง(เสียชีวิตแล้ว) ที่มาซอที่อำเภอสารภี จึงได้เข้าไปแนะนำตัว ซึ่งแม่ครูจันทร์สม สายธารา ได้แนะนำให้ไปหาคุณพ่ออำนวย กล่ำพัด (คณะอำนวยโชว์) โดยนางผ่องศรีอยู่กับคณะอำนวยโชว์ได้ระยะหนึ่ง จึงได้ย้ายมาอยู่กับพ่อครูแก้ว(ช่างปี่)บ้านร้องขี้เหล็ก อำเภอดอยสะเก็ด และเป็นสมาชิกวงละครซอ คณะพวงพะยอม จากนั้นได้ย้ายมาอยู่กับวงละครซอ คณะศรีสมเพชร 1 ได้ประมาณปีกว่าๆจึงย้ายไปอยู่กับวงศรีสมเพชร 2 ได้ประมาณ 5-6 ปี จากนั้นจึงย้ายไปอยู่กับ คณะเก๋า-ต่วม หลังออกจาก เก๋า-ต่วม นางผ่องศรีได้รวบรวมเพื่อนๆมาจัดตั้งวงละครซอ คณะลูกแม่ระมิงค์แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงได้ยุบวงแล้วมาตั้งวงละครซอของตนเอง คือวงละครซอคณะผ่องศรีเมืองพาน ซึ่งยังรับงานแสดงมาจนถึงทุกวันนี้


การเผยแพร่ผลงาน


นางผ่องศรี โสภา  ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการซอพื้นบ้านให้กับผู้ที่สนใจที่บ้าน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ

  1. บันทึกเทปซอเรื่อง  เก็บนก     คู่กับนายบุญศรี รัตนัง
  2. บันทึกเทปซอเรื่อง  แอ่วสาวเมืองพาน    คู่กับนายศรียนต์ เมืองฝาง
  3. บันทึกเทปซอเรื่อง  นาหน้อย     คู่กับนายบุญศรี รัตนัง
  4. บันทึกเทปซอเรื่อง  เก็บนก 2     คู่กับนายศรีพล สันป่ายาง
  5. บันทึกเทปซอเรื่อง  ปอยเข้าสังข์    คู่กับนายเรวัฒน์  ล้องขี้เหล็ก
  6. บันทึกเทปซอเรื่อง  ขึ้นบ้านใหม่    คู่กับนายศรีพล  สันป่ายาง
  7. บันทึกเทปซอเรื่อง  ไก่ชน           คู่กับนายศรีมา  สันโป่ง
  8. บันทึกเทปซอเรื่อง  เงี้ยวเกี้ยวประยุกต์  คู่กับนายศรีมา  สันโป่ง ฯลฯ

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ


พ.ศ. 2534     

  • เกียรติบัตร การแสดงซอจากคณะกรรมการจัดงาน “วันอนุรักษ์มรดกไทย”

พ.ศ. 2538      

  • เกียรติบัตร เป็นคณะกรรมการพิธีการกีฬาซีเกมส์ จากคณะอนุกรรมการฝ่ายไฟพระฤกษ์

พ.ศ. 2540     

  • เกียรติบัตร ร่วมแสดงซอ วันสิ่งแวดล้อมจากมูลนิธิ วาย.เอ็ม.ซี.เอ.เพื่อพัฒนาภาคเหนือ

พ.ศ. 2544     

  • เกียรติบัตร ซอรณรงค์เลือกตั้งผู้แทนราษฎร จากสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์
  • เกียรติบัตร แสดงซองานตั้งธรรมหลวง จากสำนักศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

พ.ศ. 2545    

  • เกียรติบัตร ร่วมแสดงซอพื้นเมือง งานทอดผ้าป่า จากโรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
  • ใบประกาศ ร่วมแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน งานสืบฮีตสานฮอย ฮอมปอยขึ้นเฮือนใหม่ จากโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

พ.ศ. 2547     

  • เกียรติบัตร สาธิตการแสดงซอ งานอนุรักษ์สืบสานล้านนา จากโรงเรียนเวียงเจดีย์ จังหวัดลำพูน
  • เกียรติบัตร ร่วมแสดงซองานทอดผ้าป่า จากวัดบ้านวังมะริว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
  • เกียรติบัตร ร่วมแสดงซองานทอดผ้าป่า จากวัดสหกรณ์ดอยนาง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ. 2551   

  • เกียรติบัตร ร่วมแสดงซอ งานทอดผ้าป่าจากสมาคมวิทยุชุมชนคนเมืองลี้ และสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้

ชีวิตปัจจุบัน


ปัจจุบันนางผ่องศรี โสภา ยังคงสร้างสรรค์ผลงานการซออยู่เป็นประจำ และถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนาให้แก่นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยไม่หวังสิ่งใดเป็นการตอบแทน เพราะหวังให้เยาวชนช่วยกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนาให้คงอยู่สืบไป


บทสัมภาษณ์


แนะนำตัว

แม่ครูผ่องศรี โสภา เป็นช่างซอมาจากอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ได้มาตั้งรกรากที่เชียงใหม่ได้ 41 กว่าปี ปัจจุบันพักอาศัยอยู่หมู่บ้านชื่อมั่นคง ชุมชนบ้านหัวฝาย เมืองเชียงใหม่ ทำอาชีพเป็นช่างซอ เป็นที่รู้จักในนาม ผ่องศรี เมืองพาน แม่ครูได้รับเพชรราชภัฏ-เพชรล้านนา เมื่อปีพุทธศักราช 2552 สาขาศิลปะการแสดงซอพื้นบ้าน

กว่าจะมาเป็นช่างซอ

แม่ครูเริ่มหัดซอตั้งแต่อายุ 17 ปี สมัยนั้นไม่มีครูบาอาจารย์ที่ไหนสอน แต่ด้วยใจรักในเพลงซอจึงมีความพยายามที่จะ   ร่ำเรียนและขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ ตอนนั้นได้รู้จักกับพี่ชายคนหนึ่ง ชื่อพี่คำมูล ซึ่งเป็นช่างซอเหมือนกัน แม่ครูได้ติดตามพี่คำมูลไปขับซอเสมอ   พี่คำมูลเป็นผู้มีบทบาทในการสร้างแรงจูงใจให้แม่ครูผ่องศรีฝึกฝนขับซอด้วยตนเอง จนกระทั่งแม่ครูได้มารู้จักกับช่างปี่คนหนึ่ง เลยได้มีโอกาสมาร่ำเรียนและฝึกร้องในวงปี่  การเรียน ก็ไปอย่างถูๆ ไถๆ เพราะตอนนั้นไม่มีครูบาอาจารย์ที่ไหนสอน พอได้บ้างอย่างละนิดละหน่อยบวกกับเรียนแบบครูพักลักจำในวิทยุมาก็พอไปได้ จนกระทั่งผ่านไป 1 ปี ใจที่เริ่มปรารถนาที่จะมีชื่อเสียงก็ยิ่งทวีขึ้นเรื่อยๆ ในใจตอนนั้นอยากลงไปเชียงใหม่เพราะอยากมีชื่อเสียงแบบช่างซอรุ่นพี่ ด้วยความที่บ้านฐานะขัดสนจึงไม่มีทุนที่จะมาเชียงใหม่ แต่ก็ยังดวงดีที่มีสร้อยคอทองคำอยู่ 1 เส้น    เส้นละ 25 สตางค์ แม่ครูจึงเอาสร้อยคอนั้นไปขายได้เงินมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งพอที่จะเดินทางไปเชียงใหม่ได้ แม่ครูผ่องศรีมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับแม่ครูบัวซอน ถนอมบุญ แต่บังเอิญโชคไม่เข้าข้างไปถึงตอนนั้นแม่ครูบัวซอนได้เลิก  ขับซอมาได้เป็นปีกว่าแล้ว จึงได้มารู้จักกับพ่ออำนวย กล่ำพัด ซึ่งชวนแม่ผ่องศรีมาอยู่ด้วยกัน มาทำงานที่เชียงใหม่ได้ปีกว่า ก็มีคนแนะนำแม่แสงเอ้ยเวียงป่าเป้าให้ และบอกว่าให้ข้าพเจ้าไปรับเอาขันครูช่างซอ แค่นั้น ก็ไม่ได้แนะนำอะไรอะไรเกี่ยวกับการร้องซอเลย แต่เวลาท่านไปขับซอที่ไหนแม่ผ่องศรีก็จะติดตามท่านไปเสมอ การเรียนซอของแม่ผ่องศรีจึงเรียนแบบครูพักลักจำ จนทำให้แม่ผ่องศรีได้เป็นช่างซอที่มีชื่อเสียงจนถึงทุกวันนี้

ชีวิตปัจจุบัน

ปัจจุบันแม่ครูผ่องศรี โสภา ยังคงสร้างสรรค์ผลงานการซออยู่เป็นประจำ และถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนาให้แก่นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยไม่หวังสิ่งใดเป็นการตอบแทน เพราะหวังให้เยาวชนช่วยกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนาให้คงอยู่สืบไป

การอนุรักษ์การขับซอ

อยากจะฝากถึงลูกหลาน เยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้ตระหนักถึงเพลงซอที่เป็นศิลปะและภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนสมัยก่อน ว่าการแสดงซอนี้ถือได้ว่าเป็นศิลปะชั้นสูง ซึ่งผู้ที่สามารถขับร้องเพลงซอได้นั้นจะต้องมีไหวพริบปฏิภาณที่เป็นเลิศ บวกกับใจรักในด้านนี้ ซึ่ง  แม่ครูผ่องศรีอยากจะขอฝากไว้ เพราะแม่ครูเองอายุก็เริ่มโรยราแล้วเปรียบเสมือนตะวันใกล้จะตกดิน หากลูกหลาน เยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ใส่ใจที่จะรักษา นับวันของเหล่านี้ก็จะสูญหายไปตามกาลเวลา แม่ก็นึกเสียดายถ้าหากว่ามันหายไปจริงๆ จึงอยากขอให้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ตราบนานเท่านาน และถ้าหากมีใครสนใจที่จะเรียน  เพลงซอแม่ก็ยินดีที่จะสอนให้ โดยไม่คิดค่าสอนสักบาทเดียว

สาธิตทำนองซอล่องน่าน (ก๋าย)

“ บ่ะใจ่น่านแต๊ มันเป็นน่านก๋าย
เป็นน่านเจียงฮาย เป็นน่านข้าเจ้า
น่านผ่องศรีเมืองพานนี่เล้า เป็นน่านข้าเจ้า
จาวสันเคิ่งดอนจัย ลุกจากนี่มันบ่ใจ่หาไกล
หลอนว่าอย่าไปบ้านสันต้นเผิ้ง
เปิ้นว่าลมมาดีปอสะหลีไม้เนิ้ง....
โอ้ละนา ละนา อ้ายเฮย...ขอบคุณเจ้า “


สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รหัสไปรณีย์ 50300
โทรศัพท์ 0-5388-5903 โทรสาร 0-5388-5900
เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 08.30 – 15.30 น.


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2559, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่