ข้อมูลพื้นฐาน


ชื่อ : แม่ครูลำจวน ศรีกัญชัย

ทักษะด้าน : ด้านซอพื้นเมือง

สาขา : สาขาศิลปะการแสดง

ประจำปีพุทธศักราช : 2550

หมายเลขโทรศัพท์ :

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 8/1 ซอยอนุบาลฮัดสัน ซอย 2 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติ :

นางลำจวน ศรีกัญชัย (นามสกุลเดิม จันทรา) เกิดวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2500 ที่บ้านป่าไหน่ ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ บิดาชื่อนายวงค์ มารดาชื่อนางจันทร์ จันทรา อาชีพ ทำนาทำสวน มีพี่น้องจำนวน 6 คน ได้แก่ นางไกรวัลย์ นายศรีทน นางลำจวน นายบุญส่ง นางเพ็ญจันทร์ และนายจิตนา จันทรา นางลำจวน ศรีกัญชัย สมรสกับ ร.อ.วัชระ ศรีกัญชัย อาชีพรับราชการ มีบุตรจำนวน 1 คน คือ นางสาวพัชรพร ศรีกัญชัย



ประวัติการศึกษา


พ.ศ. 2512 จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  โรงเรียนบ้านป่าไหน่ ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่


ประวัติการทำงาน


เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้ว เนื่องจากเป็นคนที่มีความสนใจในการขับซอมาตั้งแต่เด็ก คือ ได้ฟังจากวิทยุในงานบวชนาคเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2514 ที่วัดมะเกี๋ยง ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว และมีศิลปินรุ่นเยาว์แสดงการขับซอพื้นเมือง มีโอกาสฟังซอเป็นครั้งแรก รู้สึกชอบการขับซอมาก จึงอยากเรียนการขับซอ คุณพ่อจึงนำมาฝากเป็นลูกศิษย์กับแม่ครูคำปัน เงาใส ซึ่งตอนนั้นอายุ 13 ปี โดยอยู่กินที่บ้านแม่ครูตลอด ได้ช่วยแม่ครูทำงานบ้านทุกอย่าง ตั้งแต่ตักน้ำ เลี้ยงหมู ทุกวันต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 ไปขายปลาร้าให้แม่ครู และขณะที่ทำงานให้แม่ครูก็ท่องตำราไปด้วย อยู่กับแม่ครูได้ประมาณ 2 – 3 ปี พอเรียนรู้ทำนองได้เกือบทุกทำนอง แม่ครูก็ทดสอบด้วยการรับงานแสดงในนาม “ลำจวนป่าไหน่” ปรากฏว่าคนดูได้ฟังและดูลีลาการขับซอต่างก็ติดใจชอบในความสามารถ จึงมีงานแสดงมากมาย จนถึงปีพ.ศ. 2516 พ่อครูบุญตัน วังปาน ซึ่งเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังในขณะนั้นขาดคู่ถ้อง (หมายถึงคนที่ขับซอด้วยกัน การขับซอจะต้องมีสองคน ชายและหญิง เพื่อจะได้ซอโต้ตอบกัน) จึงขออนุญาตจากแม่ครู ซึ่งแม่ครูเห็นว่าเป็นโอกาสที่ลูกศิษย์จะได้แสดงกับศิลปินชื่อดัง จึงได้ฝากให้ไปอยู่กับคุณพ่อศรีนวล เหมืองจี้ ออกแสดงซอกับพ่อครูบุญตัน จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น

          ต่อมา ได้เห็นศิลปินรุ่นพี่ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 8 ลำปาง (ในสมัยนั้น) อยากจะแสดงละครซอ จึงขอลาออกจากคณะบุญตันมาอยู่กับคณะลูกแม่ปิง ตอนนั้นมีคุณพ่อบุญมี ใจสงวนเป็นหัวหน้า มีโอกาสซอคู่กับพ่อครูดวงจันทร์ วิโรจน์ ต่อมาได้พบกับพ่อครูบุญศรี รัตนัง มีโอกาสได้ขับซอคู่กับครูบุญศรี รัตนังมาโดยตลอด มีโอกาสบันทึกทั้งเทป ซีดี และวีซีดีมากมาย ไม่เฉพาะงานซอเท่านั้น ยังมีโอกาสได้ร้องเพลงลูกทุ่งพื้นเมือง เช่น เพลงไอ่มอยขี้ใส่เตี่ยว เพลงวอ 2 วอ 8 เพลงอี่หน้อยลูกป้อ  เมียบ่ฮู้ใจ๋ เมียเฮาเปลี่ยนไป๋ ขี้เมาสามช่า เป็นต้น

          เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2537 พ่อครูบุญศรี รัตนัง ประกาศเลิกซอ จึงมาซอคู่กับพ่อครูเรวัฒน์ พรมรักษ์ จนถึงปัจจุบัน นอกจากอาชีพขับซอพื้นเมืองแล้ว นางลำจวนยังประกอบอาชีพเสริมเป็นช่างเสริมสวยอยู่ที่บ้าน และยังเป็นคณะกรรมการสมาคมสืบสานตำนานปี่ – ซอ อีกด้วย


การเผยแพร่ผลงาน


นอกจากการแสดงสดหน้าเวทีในงานต่าง ๆ เช่น งานบวชนาค งานทานข้าวใหม่ งานปอยหลวง งานฉลองพัดยศ งานขึ้นบ้านใหม่ งานบุญงานกุศลทั่วไป และการบันทึกเทปซีดี วีซีดี บันทึกเทปออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายและสถานีวิทยุโทรทัศน์

          ผลงานที่ได้รับการบันทึกเทป มีดังนี้

  1. ซอ             ปอยเข้าสังข์                         คู่กับพ่อครูบุญศรี
  2. ซอ             ดาปอยบวช                          คู่กับพ่อครูบุญศรี
  3. ซอ             ขึ้นบ้านใหม่                          คู่กับพ่อครูบุญศรี
  4. ซอ             เก็บนก                               คู่กับพ่อครูบุญศรี
  5. ซอเรื่อง        คนไม่เข้าวัด 4 ประการ             คู่กับพ่อครูบุญศรี
  6. ซอเรื่อง        ถวายพระพร                         คู่กับพ่อครูบุญศรี
  7. ซอเรื่อง        ผัวน้อย / ผัวหลวง                  คู่กับพ่อครูบุญศรี / พ่อครูดวงจันทร์
  8. ซอเรื่อง        ป้อฮ้าง 3 เมีย แม่ฮ้าง 3 ผัว        คู่กับพ่อครูบุญศรี
  9. ซอเรื่อง        อาชีพร้อยแปด                      คู่กับพ่อครูบุญศรี
  10. ซอเรื่อง      ดำหัวปี๋ใหม่                          คู่กับพ่อครูบุญศรี
  11. ซอเรื่อง      ผัวเผดเมียยักษ์                      คู่กับพ่อครูบุญศรี
  12. ซอเรื่อง      ลาปอย                              คู่กับพ่อครูบุญศรี
  13. ซอเรื่อง      แก่หูหวายดายดอก                  คู่กับพ่อครูดวงจันทร์
  14. ซอคู่เรื่อง     บ้านเมืองสมัย                       คู่กับพ่อครูบุญศรี
  15. ซอคู่เรื่อง     แม่ญิง 7 ประการ                   คู่กับศรียนต์

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ


1 กรกฎาคม 2542        ได้รับเกียรติบัตรศิลปินพื้นบ้านล้านนา จากอนุบาลเชียงใหม่

3 ธันวาคม 2542          ได้รับเกียรติบัตร ครูการศึกษาพิเศษของแผ่นดิน จากสถาบันราชภัฏเชียงใหม่

22 ตุลาคม 2545         ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ กิจกรรมพิธีเปิดสวนสาธารณะและถนนคนเดินดอยสะเก็ด จากเทศบาลตำบลดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

6 ธันวาคม 2545          ได้รับใบประกาศ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านในงาน “สืบฮีตสานฮอย ฮอมปอยขึ้นเฮือนใหม่” จากโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จังหวัดเชียงใหม่

10 พฤศจิกายน 2545    ได้รับเกียรติบัตร งานสืบสานประเพณีวัฒนธรรมล้านนาของวัดธาตุคำ จากวัดธาตุคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

9 เมษายน 2545          ได้รับเกียรติบัตรการจัดงานส่งเสริมผลิตภัณฑ์เครือข่ายวัฒนธรรมจากสภาวัฒนธรรม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

8 เมษายน 2547          ได้รับเกียรติบัตร การร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา แสดงซอพื้นเมือง เนื่องในงานทอดผ้าป่าชมรมสืบสานตำนานปี่ซอ จากวัดสหกรณ์ดอยนาง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

3 พฤศจิกายน 2548      ได้รับเกียรติบัตร การร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา แสดงซอพื้นเมือง เนื่องในงานทอดผ้าป่าชมรมสืบสานตำนานปี่ซอ จากโรงเรียนบ้านห้วยงูสิงห์ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน


ชีวิตปัจจุบัน


นางลำจวน ศรีกัญชัย ได้สร้างผลงานการแสดงซอให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนมาโดยตลอด และยังเป็นศิลปินที่สังคมยอมรับในความสามารถการแสดงซอ บางครั้งก็ซอคู่กับพ่อครูเรวัฒน์ พรมรักษ์ และพ่อครูบุญศรี รัตนัง เวลาว่างจากการแสดงก็จะทบทวนบทซอและสอนลูกศิษย์อยู่ที่บ้าน หากมีหน่วยงานหรือโรงเรียนใดเชิญให้ไปถ่ายทอดความรู้ก็ยินดีที่จะไปโดยไม่คิดหวังสิ่งใดตอบแทน คติประจำใจ “อยู่หื้อเปิ้นเสียดาย ต๋ายหื้อเปิ้นเล่าไว้”


บทสัมภาษณ์


แนะนำตัว

แม่ครูลำจวน ศรีกัญชัย เพชรราชภัฏเพชรล้านนา ปี 2550 สาขาการแสดงขับซอ

ประวัติการเริ่มขับซอ

เป็นคนบ้านป่าไหน่ ต.ป่าไหน่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เริ่มเข้าสู่วงการขับซอจากการที่ไปเที่ยวงานต่าง ๆ กับป้า และได้เห็นน้องเกี๋ยงคำกับน้องจำลองแสดงซอ ทำให้ชอบและรักการดูซอ จึงตัดสินใจมาเรียนซอ โดยเริ่มเรียนซอตั้งแต่อายุ 13 ย่าง 14 มาเรียนอยู่ที่บ้านทุ่งหลวง บ้านแม่ครูเก๊า บ้านแม่คำปัน บ้านทุ่งหลวง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่พ.ศ. 2514

ถนัดขับร้องซอแนวไหน?

แนวปี่ เพราะแม่ครูสอนแนวปี่ ทำให้มีความรู้สึกลึกซึ้งกับซอแนวปี่ เริ่มต้นก็ต้องหัดซอเข้าให้ได้กับจังหวะปี่ ปัจจุบันก็มีซึงมาแทนปี่แม่ ทำให้มันเร้าจังหวะมากขึ้น

ลักษณะของซอปี่เป็นอย่างไร?

ลักษณะของซอปี่คือเสียงไพเราะ นุ่มนวล ได้ยินแล้วมีความสุข ความสบายใจ

มีหลักเกณฑ์หรือวิธีการขับร้องซอ (ทั่ว ๆ ไป) อย่างไร?

การซอแนวปี่ ต้องหมั่นซ้อมซอให้ได้จังหวะและทำนองของปี่ อย่าให้ได้ตกจังหวะปี่ รวมทั้งพยายามดัดเสียงซอเพื่อให้เข้ากับปี่ให้ได้

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการซอมีอะไรบ้าง?

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการซอปี่ได้แก่ ปี่และซึง

ซอประยุกต์ใช้ในโอกาสใดได้บ้าง?

ซอปี่สามารถใช้ได้ทุกโอกาส

คนเรียนซอต้องมีคุณสมบัติและความรู้พื้นฐานอะไรบ้าง?

ไม่ต้องมีคุณสมบัติอะไร แค่มีใจรักก็พอ

มีวิธีการอนุรักษ์การขับซออย่างไรบ้าง?

สอนการขับซอที่โรงเรียนป่าไหน่ และเปิดศูนย์การเรียนรู้ที่บ้าน มีเด็ก ๆ สนใจเข้ามาจำนวนหนึ่ง มีทั้งการสอนการขับซอเพื่อการศึกษาและสอนเพื่อนำไปประกอบอาชีพในอนาคต นอกจากนี้ยังมีวิธีการเผยแพร่การขับซอโดยการเชิญชวนเด็กไปซอด้วยกัน


สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รหัสไปรณีย์ 50300
โทรศัพท์ 0-5388-5903 โทรสาร 0-5388-5900
เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 08.30 – 15.30 น.


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2559, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่