ข้อมูลพื้นฐาน


ชื่อ : แม่ครูบัวชุม อินถา

ทักษะด้าน : ด้านซอพื้นเมือง

สาขา : สาขาศิลปะการแสดง

ประจำปีพุทธศักราช : 2553

หมายเลขโทรศัพท์ :

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 113/1 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ 50120

ประวัติ :

นางบัวชุม อินถา เกิดวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ณ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ บิดาชื่อนายมูล อินถา มารดาชื่อนางแก้ว กิติยศ เป็นธิดาคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน



ประวัติการศึกษา


สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนทุ่งฟ้าบดราษฏร์บำรุง จังหวัดเชียงใหม่


ประวัติการทำงาน


นางบัวชุม อินถา เกิดในครอบครัวยากจน มีพี่น้องหลายคน เมื่อจบชั้นประถามศึกษาปีที่ 4 ก็ไม่ได้ศึกษาต่อเนื่องจากมีพี่น้องหลายคน ด้วยใจรักในศิลปะการแสดงซอมาตั้งแต่เด็ก มารดาจึงนำนางบัวชุมไปฝากกับพ่อครูอำนวย กลำพัด เพื่อให้ศึกษาค่าว ซอ และจ๊อย ถึงแม้ว่าพ่อครูอำนวยจะไม่ได้เป็นช่างซอ แต่กว้างขวางในแวดวงช่างซอ จึงแนะนำให้ไปเรียนการขับจ๊อยซอกับแม่คำหน้อย เหล่าแมว จากนั้นยังได้ไปเรียนการจ๊อยซอกับแม่ครูบัวตอง แก้วฟั่น (บัวตอง เมืองพร้าว) และได้ร่วมแสดงกับทีมงานอำนวยโชว์อีกด้วย นางบัวชุมอยู่กับคณะอำนวยโชว์ได้ 7 ปี จึงออกไปรับงานเอง และร่วมแสดงกับคณะต่าง ๆ เช่น คณะศรีสมเพชร 1 คณะศรีสมเพชร 2 คณะกลิ่นเอื้องเสียงซึง คระสายสัมพันธ์ และคณะลูกแม่ปิง ครั้งหนึ่งคณะลูกแม่ปิงโดยการนำของพ่อครูบุญมี ป่าแดด ศิลปินในคณะได้แยกตัวไปตั้งคณะของตนเอง ทำให้คณะลูกแม่ปิงขาดนักแสดงจึงต้องปิดตัวลง แต่ด้วยนางบัวชุมมีความผูกพันกับคำว่า ลูกแม่ปิง จึงได้ขออนุญาตพ่อบุญมี ป่าแดด ใช้เป็นชื่อของคณะตนเองในปี พ.ศ. 2514

          จากประสบการณ์การเข้าร่วมแสดงกับคณะต่าง ๆ ทำให้นางบัวชุมเก็บเกี่ยวเทคนิคการแสดงมาผสมผสานและพัฒนาคณะลูกแม่ปิง จนคณะลูกแม่ปิงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แต่ใช่ว่าหนทางการแสดงจะราบรื่นเสมอไป ยังมีอุปสรรคมากมายที่นางบัวชุมได้พบประสบมา บางครั้งทำให้ท้อแท้จนถึงขั้นคิดจะปิดวง แต่เมื่อย้อนไปถึงสมัยที่แม่ขายหมู 2 ตัว เพื่อนำเงินมาให้เรียนซอ ประกอบกับใจรักในการขับขานเพลงซอและเป็นที่ภาคภูมิใจของแม่ตลอดมา จึงล้มเลิกความคิดที่จะปิดวง และได้สัญญากับตัวเองว่า จะขอเป็นช่างซอ สืบสานศิลปะแขนงนี้ตลอดไปและได้เปิดรับศิลปินช่างซอทั้งรุ่นเก่า ที่ร้างลาวงการไปแล้วและรุ่นใหม่เข้ามาในวงการซอพื้นเมือง จึงทำให้คณะลูกแม่ปิงกลับพลิกฟื้นขึ้นมาโด่งดังอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงทำให้มีชื่อเสียงในระดับแนวหน้าของภาคเหนือ

          นอกจากการขับซอแล้ว นางบัวชุม อินถา ยังมีความสามารถในการประพันธ์บทซอ ดังจะเห็นได้จากรางวัลต่าง ๆ ที่ได้รับ อาทิ

  • ประพันธ์บทซอ หัวข้อ “เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ให้กับนักเรียนโรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม ได้รับรางวัลชนะเลิศในงาน “เพชรน้ำหนึ่ง มรดกไทย” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • ประพันธ์บทซอ หัวข้อ “อนุรักษ์ป่าไม้” ได้รับรางวัลชมเชยที่ 1 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประพันธ์ซอเรื่อง ตำนานทรพี ในงานสืบสานตำนานซอ

การเผยแพร่ผลงาน


ผลงานการขับซอ

  1. ซอเรื่อง        ประวัติครูบาซาวปี
  2. ซอเรื่อง        ปัญหายาเสพติด
  3. ซอเรื่อง        ตำนานหนองสะเรียม
  4. ซอเรื่อง        ตำนานทรพี
  5. ซอเรื่อง        ปอยเข้าสังข์
  6. ซอเรื่อง        เลือกเมีย
  7. ซอเรื่อง        โศกนาฏกรรม โรงงานลำไยระเบิด
  8. ซอเรื่อง        ประวัตินางกวัก
  9. ซอเรื่อง        ประวัติพระธาตุดอยคำและพระนางจามเทวี
  10. ซอเรื่อง      ขึ้นบ้านใหม่
  11. ซอเรื่อง      ประวัติพระราชชายา
  12. ซอเรื่อง      อนุรักษ์ป่าไม้
  13. ซอเรื่อง      เยาวชน
  14. ซอคู่เรื่อง     ประวัติครูบาซาวปี ชุด 1 – 2 คู่กับพ่อดวงจันทร์ ทรายทอง
  15. ซอคู่เรื่อง     ประวัติหอยไห้ คู่กับพ่อครูคำปวน ทุ่งโป่ง
  16. ซอคู่เรื่อง     วิบากกรรม คู่กับพ่อครูคำปวน ทุ่งโป่ง
  17. ซอคู่เรื่อง     เกี้ยวสาว คู่กับพ่อครูคำปวน ทุ่งโป่ง
  18. ซอคู่เรื่อง     หลานสอนปู คู่กับนายอุทัย แก้วเมืองมา
  19. ซอคู่เรื่อง     ปัญหายาเสพติด คู่กับนายอุทัย แก้วเมืองมา
  20. ซอคู่เรื่อง     ตำนานหนองสะเลียม คู่กับนายอุทัย แก้วเมืองมา
  21. ซอคู่เรื่อง     ตำนานทรพี คู่กับนายอุทัย แก้วเมืองมา
  22. ซอคู่เรื่อง     อวยพระปีใหม่ กับลูกศิษย์ 5 คน
  23. ซอคู่เรื่อง     ปอยเข้าสังข์ คู่กับนายชำนาญ บ้านโฮ่ง
  24. ซอคู่เรื่อง     เลือกเมีย คู่กับนายอุทัย แก้วเมืองมา
  25. ซอคู่เรื่อง     โศกนาฏกรรม โรงงานลำไยระเบิด คู่กับนายนรินทร์ พระบาท

 

ละครซอ

  1. การอนุรักษ์ป่าไม้ แสดงร่วมกับแม่บัวตอง เมืองพร้าว
  2. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “น้ำและขยะ” แสดงร่วมกับพ่ออุดม รังษี
  3. การรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด แสดงร่วมกับพ่อศรีใจ พุทธราช
  4. การประกันสังคม แสดงร่วมกับพ่อศรีใจ ล้านตอง
  5. นิยายพื้นบ้านเรื่อง กำพร้าบัวตอง แสดงร่วมกับแม่บัวตอง เมืองพร้าว
  6. นิยายพื้นบ้านเรื่อง เต่าน้อยอองคำ แสดงร่วมกับพ่อประพันธ์ แก้วเก๋
  7. นิยายพื้นบ้านเรื่อง ลูกทรพี แสดงร่วมกับพ่อดวงจันทร์ ทรายทอง
  8. นิยายพื้นบ้านเรื่อง จังคนเอ็น แสดงร่วมกับพ่อบุญศรี รัตนัง
  9. นิยายพื้นบ้านเรื่อง จุ๊อ้ายขายควาย แสดงร่วมกับพ่อบุญศรี รัตนัง
  10. เรื่อง ตำนานสงกรานต์ แสดงร่วมกับ พ่อศรีใจ เกาะกลาง
  11. เรื่อง รอดวง แสดงร่วมกับพ่อสายทอง ทองเจริญ
  12. เรื่อง สาวบ้านลุ่มหนุ่มบ้านดอน แสดงร่วมกับแม่จันทร์สม สายธารา
  13. เรื่อง สอดบ้านส่องเมือง แสดงร่วมกับพ่ออุดม รังษี

จากการที่นางบัวชุม มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการซอและการประพันธ์บทซอ จึงได้นำความรู้ความสามารถและประสบการณ์ดังกล่าวถ่ายทอดให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป ซึ่งปัจจุบันลูกศิษย์ของนางบัวชุม สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพและมีชื่อเสียงอยู่ในวงการซอพื้นเมืองอย่างกว้างขวาง


รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ


พ.ศ. 2545       รางวัลศิลปินดีเด่น จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ. 2550       รางวัลศิลปินดีเด่น อำเภอสันป่าตอง

พ.ศ. 2553       รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์แก่เด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ


ชีวิตปัจจุบัน


แม่ครูบัวชุม อินถา ยังคงสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการซอให้กับเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ยังเปิดศูนย์การเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ซอ ค่าว ปี่ ซึง ให้เด็กและเยาวชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว อีกทั้งยังเป็นการสืบสานศิลปะการแสดงด้านการซอให้คงอยู่คู่ล้านนาสืบไป


บทสัมภาษณ์


แนะนำตัว

แม่ครูบัวชุม อินถา เพชรราชภัฏเพชรล้านนา ปี 2553 สาขาการแสดงขับซอ

ประวัติการเริ่มขับซอ

เริ่มเรียนซอตั้งแต่อายุ 11 ปี เรียนซอมาจากแม่ครูคำน้อย บ้านเหล่าแมว มีพ่ออำนวย กลำพัด เป็นผู้ชัดนำเข้าสู่วงการซอ

ขับร้องซอแนวไหน?

ขับร้องซอได้ทุกแนว โดยเริ่มซอพื้นเมือง เช่น แนวพิธีการหรือพิธีกรรมต่าง ๆ แต่ถนัดซอประยุกต์มากที่สุด รวมถึงละครซอ เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจ

ลักษณะของซอประยุกต์เป็นอย่างไร?

เป็นซอนิยายอิงธรรมะ ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นการซอแนวอิงชีวิตจริง

มีหลักเกณฑ์หรือวิธีการขับร้องซอ (ทั่ว ๆ ไป) อย่างไร?

ต้องมีความรู้เรื่องโคลง ฉันทลักษณ์ การใช้วาทะ และต้องอาศัยประสบการณ์การซอ

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการซอมีอะไรบ้าง?

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการซอได้แก่ ปี่จุม 4 หรือ ปี่จุม 5 ปัจจุบันเหลือเพียงปี่ก้อย ปี่กลาง ปี่เล็ก และซึง โดยใช้ซึงแทนปี่แม่ในสมัยก่อน และมีการปรับรูปแบบการซอให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ โดยนำอิเล็กโทนรวมทั้งสะล้อเข้ามาช่วยประกอบจังหวะ

ซอประยุกต์ใช้ในโอกาสใดได้บ้าง?

ซอประยุกต์สามารถใช้ได้ทุกโอกาส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพ เพราะเป็นซอที่คนทุกวัยสามารถฟังได้ ไม่น่าเบื่อ

คนเรียนซอต้องมีคุณสมบัติและความรู้พื้นฐานอะไรบ้าง?

คุณสมบัติของคนที่สนใจเรียนซอ คือต้องเป็นคนเมือง (กลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือของไทย) ไม่ต้องมีความรู้พื้นฐาน ขอแค่มีความศรัทธาและความมั่นใจ

มีวิธีการอนุรักษ์การขับซออย่างไรบ้าง?

อนุรักษ์การซอได้โดยใช้คำซอและปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนรุ่นหลัง เช่น ประเพณี การกิน การอยู่ของคนเมือง รักภาษาเมือง อนุรักษ์เสียงเมือง เป็นต้น


สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เลขที่ 202 ถ.โชตนา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รหัสไปรณีย์ 50300
โทรศัพท์ 0-5388-5903 โทรสาร 0-5388-5900
เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 08.30 – 15.30 น.


สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2559, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่